ดูเหมือน Trade War หรือ สงครามการค้า จะรุนแรงมากขึ้น เพราะตอนนี้โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ประกาศสงครามการค้ากับจีนเท่านั้น แต่การกลับมาของทรัมป์ในรอบนี้ ดูเหมือนว่าต้องการจัดการกับทุกประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ซึ่งมาตรการเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าในสหรัฐในครั้งนี้ที่ประกาศออกมาล่าสุด นอกจาก จะต้องการดึงการผลิตทุกอย่างกลับไปที่สหรัฐแล้ว สิ่งที่ทรัมป์ต้องการที่มีประโยชน์กับสหรัฐฯ เอง นอกเหนือจากการค้าแล้ว คืออะไร
วันนี้ (3 เม.ย.2568) นายพิศาล มาณวพัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา วิเคราะห์ว่าสหรัฐฯ ถูกเอาเปรียบ และเสียเปรียบจากประเทศต่างๆ มามากแล้ว เพราะฉะนั้นการประกาศมาตรการขึ้นภาษีกับทั้งโลก เป็นการตอบสนองสิ่งที่หาเสียงไว้ ประชาชนที่เลือกจากคำกล่าวที่เคยพูดไว้พึงพอใจแน่นอน
สำหรับสินค้าที่เข้าไปขายในสหรัฐฯ ก็ต้องมีราคาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบของคนในประเทศสหรัฐฯ นั้น มองว่าเป็นการสร้างอำนาจต่อรอง ซึ่งสหรัฐฯ รู้ดีว่าจะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้า ค่าครองชีพ ที่จะเพิ่มขึ้น แต่เป็นการสร้างอำนาจในการต่อรอง ซึ่งก็เห็นผลว่าประเทศใหญ่ได้เข้าไปเสนอว่าจะทำอะไรให้สหรัฐฯ ได้บ้าง ซึ่งหลังจากการประกาศมาตรการออกไปก็ยังคงมีประเทศต่างๆ ยื่นข้อเสนอแลกเปลี่ยน
ประเทศต่างๆ เร่งไปเจรจา มาตรการภาษีพื้นฐานจะมีผลวันที่ 5 เม.ย. ขณะที่ 60 ประเทศจะมีผลวันที่ 9 เม.ย.ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดโอกาสช่วงเจรจา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรัมป์คาดการณ์ไว้ ซึ่งอาจจะทำให้ตัวเลขที่ประกาศออกมาแตกต่างจากตัวเลขจัดเก็บจริง
อ่านข่าว : จับตา "ทรัมป์" ผลักโลกทั้งใบ สู่สงครามการค้าเต็มรูปแบบ

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ใช้สติปัญญาในการสร้างพลังการต่อรอง
นายพิศาล ระบุว่าสำหรับประเทศไทย ไม่ควรกังวลจนเกินเหตุ เพราะได้รับผลกระทบแน่นอนเพราะว่าไทยได้ดุลการค้าสหรัฐเป็นตลาดสำคัญ และได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์นี้มาก แต่ถ้าไทยยังไม่มีความพร้อมในเรื่องการต่อรอง ไทยก็อย่าไปเพิ่งไปเจรจา
และสำหรับข้อเสนอนั้นอย่าตอบโต้ อย่าหมอบ แต่ต้องใช้สติปัญญาในการสร้างพลังการต่อรอง เนื่องจากทุกประเทศได้รับผลกระทบ ประเทศคู่แข่งที่ส่งสินค้าคล้ายกันไปยังสหรัฐก็ได้รับผลกระทบ บางประเทศปรับขึ้นภาษีมากกว่าไทย
เอกชนไทยที่นำสินค้าไปขายสหรัฐฯ ประเภทที่มีพลังและมีการปรับตัวไว้แล้ว เป็นเรื่องที่ไม่น่าห่วง เช่นผู้ส่งออกอาหารทะเลเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ซึ่งบางผู้ประกอบการมีโรงงานในแอฟริกา และสินค้าไทยที่ผลิตจากแอฟริกาที่ส่งไปยังสหรัฐฯ ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีศุลกากร
ทั้งนี้สินค้าที่น่าห่วง คือ สินค้าจากเกษตรกร กับผู้ผลิตระดับ SME ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่รัฐบาลช่วย โดยมองว่าควรมองหาหาตลาดใหม่คู่ขนานไปด้วย
การตั้งกำแพงภาษีสูงๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องค้า การลงทุนอย่างเดียว อาจจะมีที่สหรัฐฯ ต้องการคุยกับประเทศอื่นๆ เรื่องปัญหาต่างๆ ที่ต้องการให้แก้ไขไปในคราวเดียวกัน เช่นประเทศไทยมีความเป็นไปได้ไหมที่สหรัฐต้องการให้เลือกข้างหรือไม่นั้น นายพิศาล กล่าวว่า สหรัฐฯ คงไม่ถามเรื่องการเลือกข้าง และเป็นคำถามที่รู้คำตอบอยู่แล้ว
ซึ่งสหรัฐฯ เองรู้ว่ากำลังเสียเปรียบในประเด็นอะไรบ้าง และสหรัฐฯ มีประเด็นที่ต้องการจากประเทศไทยอยู่แล้ว และไทยเองก็รู้ความต้องการของสหรัฐฯ เช่นกัน ซึ่งการเตรียมข้อต่อรองไทยต้องมีหมากที่จะสร้างอำนาจการต่อรองว่าอยากได้อะไรจากสหรัฐด้วย

เดินหน้าการทูตกับจีนคู่ขนาน
และในระหว่างการเตรียมข้อเสนอต่อรอง ต้องมีการเดินทางการทูตให้สง่างามกับจีนมากกว่านี้คู่ขนานไปด้วย
สำหรับเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่ถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับจีนในสายตาสหรัฐฯ โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่ส่งอุยกูร์กลับไปให้กับจีน สหรัฐฯ จึงมีมาตรการจำกัดการเข้าสหรัฐสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูง หลายเป็นตำหนิ ที่มีความเสียหน้าพอสมควร จึงใช้โอกาสนี้ในการดำเนินการต่างประเทศคือเดินไปกับจีน เพราะจะลดความรู้สึกภาพลักษณ์ที่นอบน้อม เป็นเบี้ยล่างจีนในสายตาสหรัฐ
"กับจีนนั้นไม่มีเวลาไหนที่เหมาะกับช่วงนี้ เพราะเราสามารถไปทวงบุญคุณจีนว่าเราบาดเจ็บ เสียหายจากอุยกูร์เพื่อตอบสนองความต้องการของจีน เราเอาความน่าเชื่อถือไปรับรองความน่าเชื่อถือของอุยกูร์ของจีน การทวงบุญคุณนี้ต้องใช้การเจรจาทางการทูตที่สุภาพ นุ่มนวล ไม่ใช่อ่อนน้อม นอบน้อม และเกรงกลัว"
นายพิศาล ยังกล่าวว่าถือเป็นโอกาสที่จะร่วมมือกับจีนในการแก้ภาพลักษณ์ให้กับจีน ซึ่งสื่อที่ไทยจะได้ คือการลดลงบรรดากลุ่มอาชญากรรม และสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานและเป็นภัยต่อความปลอดภัย ทั้งด้านความเป็นอยู่ และสุขภาพ
ทั้งนี้จีนเคยระบุว่ายินดีร่วมมือ แต่ปัญหาคือไทยมีระบบทุจริตคอร์รัปชัน จีนเองพยายามทำตามกฎหมายไทยแล้วแต่ยังเกิดปัญหา ซึ่งไทยจะได้ข้อมูลความร่วมมือกับจีนในการปราบปราม กวาดล้างทุจริตคอร์รัปชันในวงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารเทา โรงงานเทา สินค้าเทา รวมทั้งไทยจะได้ภาพลักษณ์ความสง่างามในสายของตะวันตก
อ่านข่าว :
ส่งออก "ข้าวหอมมะลิไทย" สะเทือน สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36%
จับตา "ทรัมป์" ผลักโลกทั้งใบ สู่สงครามการค้าเต็มรูปแบบ
นายกฯ เตรียมข้อเสนอปรับดุลการค้ากับสหรัฐฯ หลังสหรัฐฯปรับขึ้นภาษีนำเข้า 36 %