วันที่ 5 เม.ย.2568 ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักยุทธศาสตร์แห่งอนาคต เขียนบทความหลังสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ระบุว่า
เมื่อ “วันปลดปล่อย” ของอเมริกา กลายเป็น “แผ่นดินไหวใหญ่” ของเศรษฐกิจโลก คำถามสำคัญคือ ไทยควรมี “ยุทธศาสตร์ระดับประเทศ” อย่างไร ในโลกที่กำลังเปลี่ยนกติกาการค้าและพันธมิตรทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวดเร็ว ต่อเนื่อง และบางการเปลี่ยนแปลงอาจจะถาวร
ผมจึงขอยืมหลัก 3 อยู่ คือ “อยู่รอด-อยู่เป็น-อยู่ยืน” ที่เคยเขียนไว้รับมือวิกฤตโควิดมาปรับใช้กับสงครามการค้าโลก มาชวนคิดเผื่อจะพอเป็นประโยชน์ให้ผู้นำ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางนโยบาย และผู้เชี่ยวชาญเอาไปคิดต่อยอดนะครับ
1.อยู่รอด-ทำด่วนที่สุดเพื่อให้อยู่รอดจากศึกใหญ่ตรงหน้า
อย่างที่เคยเขียนไปก่อนนี้ว่าสิ่งแรกที่รัฐบาลควรทำทันทีคือ การตั้ง “War Room ด้านการค้าระหว่างประเทศ” ในระดับชาติ มี นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ที่กำกับเศรษฐกิจเป็นประธาน ดู-สั่ง-ประสานงานข้ามกระทรวงได้เพราะสิ่งที่อเมริกาอาจอยากได้จากไทยอาจไม่ใช่แค่เรื่องสินค้า-ภาษีเท่านั้น แต่เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจ การลงทุน การเงิน-ธนาคาร เทคโนโลยี ความมั่นคง และการทูตในระดับโลก
แม้วันนี้การเจรจา อาจจะดูสายไปแล้วในสายตานักวิเคราะห์หลายคน แต่ส่วนตัวมองว่า เป็นไปได้ที่ประตูการเจรจายังไม่ปิด และอาจต้องมีต่อเนื่องอีกหลายรอบ แม้มาตราการภาษีจะลงมือทำแล้ว
War Room นี้ควรมี 4 ฟันเฟืองหลักที่ทำงานประสานกัน
- ทีมเจรจาและการทูต : คัดคนที่มีประสบการณ์เวทีใหญ่ เข้าใจดีทั้งการเมืองระหว่างประเทศและการล็อบบี้ในวอชิงตัน
- ทีมเทคนิคและกฎหมาย : ผู้เชี่ยวชาญจากหลายกระทรวง ช่วยประเมินว่ากฎหมายไทยสามารถทำอะไรได้ และออกแบบมาตรการตอบโต้-เยียวยาให้ทันเหตุการณ์
- ทีมที่ปรึกษาจากภาคเอกชน : ตัวแทนจากอุตสาหกรรมหลัก เข้าใจว่าใครได้ ใครเสีย จากการเปิดหรือปิดตลาด เพื่อให้การเจรจาเป็นธรรมและเป็นจริง
- ทีมเศรษฐศาสตร์และยุทธศาสตร์ : นักคิด นักวิเคราะห์ ที่สามารถมองออกไปข้างหน้า วางแผนรุกในตลาดใหม่ หรือเปลี่ยนตำแหน่งประเทศไทยในห่วงโซ่คุณค่าโลก
ที่สำคัญจะต้องคิดถึงนโยบายเยียวยากลุ่มที่อาจถูกกระทบจากการเจรจาด้วย เพราะการยื่นหมูยื่นแมว ย่อมอาจมีฝ่ายเสียประโยชน์ในประเทศ โดยเฉพาะSMEและกลุ่มคนเปราะบาง
2.อยู่เป็น-สิ่งที่ต้องทำเพื่อปรับตัวให้เท่าทันศึกที่ยังไม่จบ
แม้จะตั้ง War Room และเจรจากับสหรัฐฯแล้ว เรายังต้อง “ระวังอาฟเตอร์ช็อก” ที่ตามมาอีกหลายระลอก ทำให้ต้องอยู่กับความไม่แน่นอน
- นโยบายสหรัฐอาจเปลี่ยนอีกหลายครั้ง รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจใหญ่อื่น ๆ ด้วย เช่น อย่าเพิ่งคิดว่าประเทศคู่แข่งโดนภาษีสูงกว่าเรา เพราะพอเขาเจรจาแล้วภาษีก็อาจเปลี่ยนอีกได้เสมอ
- เตรียมการสื่อสารเตือนภัยอย่างเป็นระบบ (early warning) เป็นกระบอกเสียงเดียวจากรัฐบาลให้กับภาคเอกชนเพื่อให้รู้ว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่อีกไม่ว่าจะจากสหรัฐหรือที่อื่น
- ต้องระวังผลกระทบทางอ้อม เช่น ประเทศอื่น ๆ หาทางเทสินค้าทะลักมายังตลาดอาเซียนแทนสหรัฐ อาจมีการทำทุ่มตลาด (dumping) หรือมีเงินทุนไหลบ่าแบบ ทุนเทา (grey capital)
3.อยู่ยืน-สิ่งที่ต้องทำเพื่อรุก ฉกฉวยโอกาสจากโลกที่เปลี่ยนไปถาวร
เมื่อแผ่นดินไหวแล้ว โลกจะไม่เหมือนเดิม เราต้องมองหาภูมิประเทศใหม่ที่เหมาะแก่การเติบโต
- ร่วมมือกับประเทศอาเซียนในการเจรจาเป็นกลุ่ม ให้เสียงดังขึ้น และต่อรองได้มากขึ้น นโยบายอเมริกาคราวนี้มาเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ แยกกันต่างเอาตัวรอด แต่เราควรใช้โอกาสนี้พยายามรวมตัวมากขึ้นกว่าเดิม
- ร่วมกับประเทศในเอเชียและประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาษีของสหรัฐฯ สนับสนุนหลักพหุภาคี (Multilateralism) และร่วมกับญี่ปุ่นร้องเรียนยังองค์การการค้าโลก โน้มน้าวประเทศต่าง ๆร้องไปยังเรียนเวทีเอเปค เวทีอาเซป (RCEP) เวทีการประชุมเอเชีย (ACD) และเวทีพหุภาคีทั้งหลาย ว่ามาตรการฝ่ายเดียวของสหรัฐ ขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมย์ขององค์กรเหล่านี้ เพื่อผนึกกำลังเพิ่มอำนาจกดดัน และต่อรองกับสหรัฐฯ
- หาโอกาสให้ “กว้าง” ขึ้น จากประเทศนอกวงสหรัฐ-จีน หรือผมขอเรียกว่า ตลาด NUSCH (Non-US-China) เช่น อาเซียน อินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป หรือแม้แต่ แอฟริกา และลาตินอเมริกา ที่ต้องการกระจายห่วงโซ่อุปทานใหม่ เพราะในอนาคต ตลาดใกล้ตัวเราอย่าง อินเดียและอินโดนีเซียอาจเป็นเศรษฐกิจท็อป 5 ของโลก
เช่น จัดประชุมอาเซป (RCEP) โดยด่วน เพื่อหารือว่า 16 ประเทศที่เป็นสมาชิก ควรร่วมมือกัน เปิดตลาดการค้า การลงทุนให้กันเพื่อบรรเทาผลจาก reciprocal tariff ของสหรัฐฯอย่างไรได้บ้าง
- เปลี่ยนจากการเป็น “ผู้ผลิต” ไปสู่การเป็น “ผู้สร้าง” มูลค่า (Value) โดยสนับสนุนแบรนด์ไทย การออกแบบนวัตกรรม และการวิจัยพัฒนา ลงทุนในการสร้างคน อัพสกิลรีสกิล (Up Skill Re Skill) สำหรับอนาคต
- สร้าง “ทีมประเทศไทย” หาโอกาสใหม่ ตั้งองค์กรคล้าย JETRO ของญี่ปุ่น หรือ Enterprise SG ของสิงคโปร์ ทำงานเชิงรุกในประเทศเป้าหมาย โดยมีทั้งภาครัฐ เอกชน และคนไทยในต่างแดน
เรากำลังอยู่ในโลกที่ “ขั้วอำนาจการค้า” เปลี่ยนมือ
จากยุคที่กติกาโลกค่อนข้างนิ่ง ไปสู่ยุคที่ใครมีพลังต่อรองมาก ก็ตั้งกติกาเองได้
ประเทศไทยจะไม่สามารถ “กัดฟันทน” ให้สงครามการค้าโลกครั้งนี้ผ่านไปได้ เพราะศึกอาจมีหลายรอบ หลากทิศ พลิกผันและยาวนาน
จึงคิดว่าหลัก “3 อยู่” นี้ น่าจะเป็นหลักคิดที่พอมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย
ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ
วิเคราะห์ : ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักยุทธศาสตร์แห่งอนาคต
อ่านข่าว : ชาวอเมริกันลุกฮือ! ประท้วง "ทรัมป์-มัสก์" กำแพงภาษีระลอกใหม่