วันนี้ (6 เม.ย.2568) กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ... ที่มีกาสิโนเป็นส่วนประกอบสำคัญ โดยชี้ว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่เพียงขาดความชอบธรรมจากประชาชน แต่ยังอาจนำมาซึ่งผลกระทบร้ายแรงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้
เรียน ประธานสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค
ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ... ที่มีกาสิโนเป็นส่วนประกอบสำคัญ และได้เลื่อนขึ้นพิจารณาเป็นการด่วนในวันที่ 9 เม.ย.นี้ กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างละเอียด และมีมติคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ด้วยเหตุผลสำคัญ ดังนี้
1. การละเมิดหลักสัญญาประชาคม ด้วยเหตุว่าพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลปัจจุบันไม่มีพรรคใดหาเสียง ต่อประชาชนในการเลือกตั้งที่ผ่านมาว่าจะให้มีบ่อนพนันถูกกฎหมาย จึงเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่ประชาชนมอบให้ แม้ประชาชนจะมอบให้แล้วก็ไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจได้
2. ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนเป็นหลัก อาจไม่สามารถสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้จริงตามที่กล่าวอ้าง เพราะการพนันไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชาชาติ เป็นเพียงการโอนย้ายเงินจากฝ่ายหนึ่งไปยังอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการใดๆ ในทางกลับกันอาจส่งผลกระทบต่อสังคมและก่อให้เกิดต้นทุนสาธารณะที่สังคมโดยรวมต้องมาแบกรับ จึงไม่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
3. ขาดธรรมาภิบาล ร่างพระราชบัญญัตินี้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการนโยบายและคณะรัฐมนตรีอย่างล้นเกิน ขาดการแบ่งแยกอำนาจเพื่อการตรวจสอบและถ่วงดุล เสมือนการให้เช็คเปล่ากับฝ่ายบริหารสามารถแสวงประโยชน์อย่างไรก็ได้

4. ความเสี่ยงต่อการฟอกเงินและอาชญากรรม กาสิโนสามารถถูกใช้เป็นช่องทางการฟอกเงินของธุรกิจผิดกฎหมาย อาชญากร รวมถึงข้าราชการและนักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่น หากพื้นฐานของประเทศนั้นไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่ดีพอ มีการทุจริตคอร์รัปชันสูง รวมถึงการมีกฎหมายที่มีช่องโหว่
5. การไม่ฟังเสียงคัดค้านของประชาชน ปัจจุบันปรากฏเสียงคัดค้านจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งองค์กรศาสนา แพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุข นักวิชาชีพ และกลุ่มมวลชนต่าง ๆ การเร่งผ่านกฎหมายโดยไม่ฟังความเห็นค้านของประชาชน อาจนำไปสู่การจุดชนวนความขัดแย้งทางสังคม ซ้ำรอยเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งไม่เป็นที่คนไทยโดยส่วนใหญ่ปรารถนาจะให้เกิดขึ้นอีก
6. การเคารพมติมหาชน หากรัฐบาลเชื่อมั่นในนโยบายนี้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และพร้อมจะชี้แจงเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อประชาชน รัฐบาลสมควรจัดทำประชามติเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ขอเรียกร้องต่อประธานรัฐสภาโปรดยึดมั่นผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาว และขอเรียกร้องต่อพรรคการเมืองทุกพรรค และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน ได้ใช้มโนสำนึกตัดสินใจอย่างอิสระปราศจากการถูกครอบงำใด ๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมเป็นสำคัญ
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม นายวิชาญ ฤทธิ์วิชัย (ตัวแทน)

อ่านข่าวอื่น :
6 เม.ย. "วันจักรี" วันระลึกถึง ร.1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะ 2 รูป