"เทศกาลสงกรานต์" ช่วงเวลาแห่งความสนุกที่คนไทยและนักท่องเที่ยวรอคอย ทุกปีถนนหนทางเต็มไปด้วยรอยยิ้มและสายน้ำเย็นฉ่ำ แต่ในความสนุกนั้น บางพฤติกรรมที่ดูเหมือนเรื่องเล็ก ๆ อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ถ้าฝ่าฝืนกฎหมาย จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีพฤติกรรมที่ไม่ควรทำเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจบานปลายจนถึงขั้นเสียอนาคตได้
1. สาดน้ำหรือปะแป้งคนที่ไม่ยินยอม
การสาดน้ำใส่คนที่ไม่ต้องการเล่น เช่น คนที่กำลังไปทำงานหรือขี่มอเตอร์ไซค์ อาจดูเป็นเรื่องขำ ๆ แต่ตามกฎหมายถือเป็นการ "ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญ" มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (กฎหมายอาญา ม.397) ถ้าทำให้ทรัพย์สินเสียหาย (ม.358) เช่น โทรศัพท์พัง อาจเจอข้อหาทำให้เสียทรัพย์ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท
ข้อควรระวัง : ดูให้แน่ใจว่าคนที่เราจะสาดน้ำยินยอมหรืออยู่ในโหมดเล่นน้ำด้วย ถ้าเขาโบกมือปฏิเสธหรือแต่งตัวทำงาน ปล่อยเขาไปเถอะ
2. เมาแล้วขับรถ
สงกรานต์ทีไร อุบัติเหตุจากเมาแล้วขับพุ่งสูงทุกปี สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุชัด ถ้าขับขี่ขณะมึนเมาเกินกฎหมายกำหนด (แอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกพักใบขับขี่ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 160 ตรี ถ้าทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือตาย โทษยิ่งหนักถึงจำคุกสูงสุด 10 ปี
ข้อควรระวัง : ดื่มแล้วอย่าขับเด็ดขาด เรียกแท็กซี่หรือให้เพื่อนที่ไม่ดื่มช่วยขับแทน ชีวิตมีค่ากว่าแก้วเหล้า
3. ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงหรือน้ำสกปรก
ปืนฉีดน้ำแรงสูงอาจดูเท่ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งห้ามชัดเจน เพราะอาจทำให้บาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุ มีโทษตามกฎหมายอาญาเรื่องการทำร้ายร่างกาย โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท (ม.295) ส่วนการใช้น้ำสกปรก เช่น น้ำคลองหรือน้ำผสมสารเคมี อาจเข้าข่ายทำให้ผู้อื่นเจ็บป่วย
ข้อควรระวัง : ใช้ปืนฉีดน้ำแบบธรรมดา และเติมน้ำสะอาดเท่านั้น อย่าเสี่ยงกับของแปลก ๆ
วิธีเอาตัวรอด เซฟชีวิต เมื่อต้องอยู่ใน "ฝูงชนเบียดเสียด"
4. ลวนลามหรือคุกคามทางเพศ
การฉวยโอกาสลูบคลำ แต๊ะอั๋ง หรือสัมผัสร่างกายผู้อื่นโดยไม่ยินยอม ผิดกฎหมายชัดเจนตามประมวลกฎหมายอาญา ม.278 "กระทำอนาจาร" มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตำรวจเตือนทุกปีว่าสงกรานต์ไม่ใช่ข้ออ้างให้ละเมิดใคร
ข้อควรระวัง : เคารพสิทธิ์ส่วนตัวของคนอื่น อย่าแตะต้องใครโดยไม่ได้รับอนุญาต เล่นน้ำแบบสุภาพดีที่สุด

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
5. ขายหรือให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็ก
ร้านค้าหรือใครก็ตามที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท รวมถึงไม่จำหน่ายในสถานที่และเวลาที่ห้ามขาย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท สงกรานต์เป็นช่วงที่ตำรวจเข้มงวดเรื่องนี้มาก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากการครองสติไม่อยู่
ข้อควรระวัง : ถ้ามีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีมาขอซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่าขายเด็ดขาด ช่วยกันดูแลเยาวชนให้ปลอดภัย
6. แต่งตัวโป๊เปลือยในที่สาธารณะ
ใส่ชุดบางหรือโป๊จนเกินงามในที่สาธารณะ เข้าข่าย "กระทำการอันควรขายหน้า" ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.388 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอความร่วมมือให้แต่งกายมิดชิดเพื่อรักษาวัฒนธรรม
ข้อควรระวัง : เลือกชุดที่เปียกแล้วไม่โป๊ หรือใส่เสื้อทับไว้ เปียกแค่ไหนก็ยังดูดี
7. ใช้รถบรรทุกน้ำผิดกฎหมาย
การดัดแปลงรถบรรทุกน้ำหรือขับขี่โดยไม่มีใบอนุญาต ผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท และอาจถูกยึดรถ ตำรวจเตือนว่ารถที่ใช้ต้องได้มาตรฐานและขับขี่อย่างปลอดภัย
ข้อควรระวัง : ถ้าจะใช้รถบรรทุกน้ำ ต้องเช็กให้ถูกกฎหมายและมีคนขับที่มีใบอนุญาต
8. ยิงปืนขึ้นฟ้า
บางคนอาจคิดว่ายิงปืนขึ้นฟ้าในช่วงสงกรานต์ดูเท่ แต่ผิดกฎหมายอาวุธปืนชัดเจน การยิงปืนขึ้นฟ้า มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ม.8 ทวิ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้ากระสุนตกใส่หลังคาบ้าน ทรัพย์สินเสียหาย หรือถูกคนอื่น โทษยิ่งหนัก มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
ม.300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อควรระวัง : อย่าพกปืนหรือยิงเด็ดขาด เล่นน้ำด้วยมือเปล่าก็สนุกได้

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
สงกรานต์ เล่นน้ำปลอดภัย ไม่เสี่ยงอันตราย
เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนเปียกปอน
- ตรวจเช็คร่างกาย หากมีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นติดตัวไปด้วย
- เลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสม แห้งง่าย ไม่หลุดลุ่ย และไม่โป๊จนเกินไป เพื่อความคล่องตัวและลดความเสี่ยงต่อการถูกลวนลาม
- ป้องกันสิ่งของมีค่า ด้วยการเก็บไว้ในถุงกันน้ำ หรือฝากไว้กับคนที่ไม่ลงเล่นน้ำ
- ดูแลผิวและดวงตา ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF เหมาะสม และสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันดวงตาจากน้ำสกปรก
เล่นน้ำอย่างมีสติ ป้องกันอุบัติเหตุ
- ระมัดระวังพื้นที่เล่นน้ำ เลือกเล่นน้ำในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือหลุมบ่อที่อาจทำให้ลื่นล้มได้
- ไม่สาดน้ำใส่ผู้อื่นโดยไม่สมัครใจ เคารพสิทธิของผู้อื่น หากเห็นว่าใครไม่ต้องการเล่นน้ำ ไม่ควรสาดน้ำใส่
- หลีกเลี่ยงการใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตาและผิวหนังได้
- ไม่เล่นน้ำในบริเวณที่มีกระแสไฟฟ้า
- ดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้คลาดสายตา เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุจมน้ำได้
- ระมัดระวังการเล่นบนรถกระบะ นั่งให้เรียบร้อย ไม่ยืนหรือโหนตัวรถ

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ และการถูกลวนลาม
- ระมัดระวังคนแปลกหน้า อาจมีมิจฉาชีพแฝงตัวมา ระมัดระวังทรัพย์สินและคนแปลกหน้าที่เข้ามาใกล้ชิด
- หลีกเลี่ยงการเดินในที่เปลี่ยว โดยเฉพาะในเวลากลางคืน หากต้องเดินทาง ควรไปเป็นกลุ่ม
- หากถูกลวนลามหรือพบเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างทันที
หลังเล่นน้ำ ดูแลตัวเอง
- รีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ป้องกันการเป็นหวัด หรือการระคายเคืองผิวหนังจากน้ำที่ไม่สะอาด
- พักผ่อนให้เพียงพอ
สงกรานต์เป็นเทศกาลแห่งความสุข ถ้าเรารู้จักระวังและเคารพกฎหมาย ก็จะสนุกได้แบบไม่ต้องกังวลเรื่องคดีหรือโทษปรับ มาช่วยกันทำให้สงกรานต์ 2568 เป็นช่วงเวลาดี ๆ ที่ทุกคนยิ้มได้กันเถอะ
อ่านข่าวเพิ่ม :
จิ๋วแต่แจ๋ว "บ๊วย" ตัวช่วยคลายร้อนตั้งแต่โบราณจนยุคดิจิทัล
พิกัดงาน "สงกรานต์ 2568" ทั่วไทย - กรุงเทพมหานคร มีที่ไหนบ้าง