ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พิษภาษีทรัมป์! กระทบนายจ้าง ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่อสะดุด

สังคม
8 เม.ย. 68
16:49
177
Logo Thai PBS
พิษภาษีทรัมป์! กระทบนายจ้าง ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่อสะดุด
อ่านให้ฟัง
04:40อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นายจ้างอ่วมปรับขึ้นภาษีนำเข้า "ทรัมป์" ทำพิษ ส่อปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่เป็นไปได้ยากหลังบอร์ดไตรภาคีองค์ประชุมยังไม่ครบ

วันนี้ (8 เม.ย.2568) จากการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ ชุดที่ 22 (รักษาการ) หรือบอร์ดไตรภาคี มีวาระเพื่อพิจารณา 2 เรื่อง คือพิจารณาทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำปี 2568 และการพิจารณามาตรการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงที่ผ่านมา

แต่ปรากฏว่า วันนี้มีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมเพียง 8 คนจากทั้งหมด 15 คน โดยพบว่าสัดส่วนลูกจ้างเข้าร่วมประชุมเพียง 1 คน จาก 5 คน ขณะที่ภาครัฐเข้าร่วมประชุมเพียง 2 คนจาก 5 คน ส่วนฝ่ายนายจ้างเข้าประชุมครบทั้ง 5 คน โดยมีนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานการประชุม โดยใช้ระยะเวลาในการประชุมทั้งหมดประมาณ 2 ชั่วโมง

โดยภายหลังการประชุม ปลัดกระทรวงแรงงาน รีบออกจากห้องประชุม โดยไม่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยแจ้งว่าติดภารกิจประชุมคณะอื่นต่อ

ด้านอดีตเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการค่าจ้าง ให้ข้อมูลว่าวันนี้ที่ประชุมไม่ได้มีการพิจารณา เรื่องการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และไม่มีการลงมติอะไร เนื่องจากการพิจารณาและลงมติจะต้อง มีผู้เข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุม 2 ใน 3 หรือจำนวน 10 คนจาก 15 คน แต่มีการพูดคุยกันในเรื่อง อื่น ๆ แต่ไม่ได้ลงมติแค่นั้นเอง

นายณัฏฐกิตติ์ เขตตระการ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมมีวาระการพิจารณาเรื่องการทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำในรอบถัดไปคือเดือน พ.ค.นี้ แต่ไม่สามารถพิจารณาต่อได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ และมีการนัดหมายอีกครั้งวันที่ 22 เม.ย.นี้

ถือว่ามีพิรุธเพื่อที่จะดันให้มีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งถัดไป เพราะว่านัดเร็วเกินไป อย่างไรก็ตามในวันดังกล่าวฝ่ายนายจ้าง ได้แจ้งต่อที่ประชุมไปแล้วว่าติดภารกิจไม่สามารถเข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวได้

นายจ้างเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องทบทวนเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอีก เพราะที่ผ่านมาก็เพิ่งจะขึ้นไปได้ไม่นาน และยังไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องทบทวน

ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสะดุด

เมื่อถามถึงกรณีสหรัฐอเมริกา ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 36% ส่งผลกระทบกับเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวว่า กระทบแน่นอนโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงอยากให้รอเรื่องนี้นิ่งก่อนแล้วค่อยมาว่ากัน ถ้าเบ็ดเสร็จจากตรงนั้นแล้วค่อยมาทบทวน ก็ยังพอมีเหตุผลบ้าง

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีการรายงานผลกระทบ จากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในรอบที่ผ่าน ๆ มา เช่นในกลุ่มพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) ซึ่งผู้ประกอบการในละแวกนั้นค่อนข้างเยอะพอสมควรต่างก็ได้รับผลกระทบ จึงมองว่าหากมีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอีกจะกลายเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ ให้หนักขึ้นไปกว่านี้อีก ไม่เป็นธรรมกับนายจ้าง

โดยตั้งแต่มีการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่มีมาตรการเยียวยา และช่วยเหลือนายจ้างออกมาเลย ทำให้นายจ้างต้องแบกรับภาระอย่างหนัก ส่วนการประชุมในครั้งถัดไป ก็มีความเป็นไปได้สูง ที่จะไม่มีการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และคณะกรรมการฯ อาจจะมาไม่ครบองค์ประชุมเช่นเดิม

ก่อนหน้านี้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เคยออกมาประกาศว่าจะมีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำครั้งถัดไป ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติเพื่อเป็นของขวัญกับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ และจะมีการเคาะตัวเลขในวันนี้

อ่านข่าว : "สหรัฐฯ-จีน" เปิดสงครามการค้า ยก 2 ?

หลายชาติเดินหน้าเจรจาต่อรองมาตรการภาษีสหรัฐฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง