ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ขุดเบื้องลึก "ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ไทย)" ทุนจีนใหม่แผ่นดินใหญ่

อาชญากรรม
10 เม.ย. 68
14:35
418
Logo Thai PBS
ขุดเบื้องลึก "ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ไทย)" ทุนจีนใหม่แผ่นดินใหญ่
อ่านให้ฟัง
10:54อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

แม้ดีเอสไอจะรับเหตุตึก สตง. 30 ชั้นถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 เป็นคดีพิเศษในฐานความผิด "นอมินี" ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) และเน้นการพิสูจน์ในความผิด การถือหุ้นอำพรางของคนไทย การเสนอราคาหรือการแข่งราคาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น เหล็กเส้นหรือคอนกรีตที่ไม่มีคุณภาพ

โดยเฉพาะการถือหุ้นอำพราง ตามสัดส่วนที่พบว่า มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 51 ล้านบาท เป็นบุคคล 3 ราย คือ นายโสภณ มีชัย (49% ของ 51 ล้านบาท), นายประจวบ ศิริเขตร (40.8% ของ 51 ล้านบาท) และนายมานัส ศรีอนันท์ (10.2% ของ 51 ล้านบาท) ส่วนสัดผู้ถือหุ้นสัญชาติจีน 49 ราย เป็นบุคคล 1 ราย คือ นายชวน หลิง จาง ส่วนที่เหลือเป็นนิติบุคคล

ล่าสุดดีเอสไอสืบสวนจนพบญาติของ "มานัส ศรีอนันท์" 1 ใน 3 กรรมการผู้ถือหุ้นคนไทย ซึ่งอาศัยอยู่ใน จ.เพชรบูรณ์ ได้ข้อมูลว่า มานัส มีอาชีพรับจ้างทำหน้าที่ขับรถส่งของ-ยกของ รับเงินเดือนรายวันอยู่ในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) และไม่มีสถานะเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นภายในบริษัทแต่อย่างใด

ส่วน "ประจวบ ศิริเขตร" ผู้ถือหุ้นอีกคนหนึ่ง มีบ้านพักอยู่ใน จ.ร้อยเอ็ด ภรรยาของนายประจวบให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่า นายประจวบ มีรายได้ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน จากการทำงานรับจ้างก่อสร้าง แต่พบมีชื่อถือหุ้นนิติบุคคลอีก 10 บริษัท ไม่ต่างจาก นายโสภณ ซึ่งมีอาชีพรับจ้าง รายได้เดือนละ 10,000 บาท

แทบไม่น่าเชื่อว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) บริษัทในเครือยักษ์ใหญ่ รัฐวิสาหกิจของจีน ซึ่งเข้ามาทำกิจการในเมืองไทย ด้วยทุนจดทะเบียนเมื่อปี 2561 มูลค่า 100 ล้านบาท สามารถเข้าประมูลโครงการของรัฐ ที่มีกิจการร่วมค้าได้ถึง 27 โครงการ มูลค่าวงเงินงบประมาณ 27,803 ล้านบาท จะมีพฤติกรรมในลักษณะนี้

หากย้อนกลับไปดูโครงสร้างของบริษัทแม่ของ "China Railway Group" พบ เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีนที่สร้างโครงสร้างพื้นฐานของจีนและทั่วโลก มีบริษัทในเครือเป็น China Railway หมายเลขต่าง ๆ เช่น บริษัท China Railway No.8 ดูแลการก่อสร้างแถบประเทศ อิรัก คูเวต สิงคโปร์ ซูดาน ลาว ฯลฯ และยังมีส่วนสำคัญในโครงการทางรถไฟ 1 แถบ 1 เส้นทางของ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

บริษัท China Railway No.9 ดูแลการก่อสร้างแถบกลุ่มประเทศตะวันออก เช่น ซาอุดีอาระเบีย มาเลเซีย ยูกันดา เอกวาดอร์ ฯลฯ และบริษัท China Railway No.10 ดูแลโครงการก่อสร้างในประเทศไทย

และปัจจุบันบริษัทลูก No.10 ในประเทศไทย กำลังถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบอย่างเข้มข้น ในฐานความผิดข้างต้น แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งพบว่าบริษัทแม่ China Railway Group ได้ถูกจัดอันดับอยู่ใน Fortune Global 500 เป็นเวลาติดต่อกันถึง 17 ปี โดยในปี 2022 บริษัทอยู่ในอันดับที่ 34 ของ Fortune Global 500 และอยู่ในอันดับที่ 5 ของ 500 องค์กรชั้นนำของจีน

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าที่ประเทศจีน บริษัท China Railway Group ได้รับผิดชอบการก่อสร้างทางรถไฟ “มากกว่า 2 ใน 3 ของทางรถไฟทั้งหมดในจีน หรือประมาณ 90% ของทางรถไฟแบบไฟฟ้าของประเทศ และยังมีส่วนในการก่อสร้าง 1 ใน 8 ของระยะทางทางด่วนทั้งหมด

โดยบริษัทแม่ได้รับความเชื่อถือและสามารถดำเนินกิจการก่อสร้างต่าง ๆ โดยไม่มีปัญหา และในทางกลับกันพบข้อมูลว่า บริษัทลูกหมายเลขต่าง ๆ เคยมีปัญหาการทุจริตวัสดุก่อสร้างและรับสินบน เช่น บริษัท China Railway Tunnel GroupW (CRTG) ซึ่งอยู่ในเครือของ China Railway Group ที่เข้าไปลงทุนในประเทศสิงคโปร์ มีพนักงานของบริษัทฯ ถูกจับกุมในข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐบาลสิงคโปร์ เมื่อปี 2023 เป็นต้น

หลังเกิดเหตุการณ์อาคาร สตง.ถล่ม ให้หลังเพียง 1 วัน เจ้าหน้าที่พบว่า มีกลุ่มบุคคลได้พยายามขนย้ายเอกสารต่าง ๆ ออกจากสำนักงานที่ตั้งอยู่ด้านข้างของตัวอาคารออกไปจำนวนมาก แต่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยืนยันว่า การย้ายเอกสารและสำนักงานหลายแห่ง ยิ่งเป็นข้อสันนิษฐานและพยานหลักฐานว่า บริษัทฯ อาจไม่ได้มีการประกอบกิจการที่เป็นหลักเป็นฐานจริง และอาจไม่ใช่เป็นการทำลายพยานหลักฐาน แต่ดีเอสไอก็สามารถเก็บรวบรวมร่องรอยหลักฐานที่เหลือได้

ข้อสันนิษฐานของดีเอสไอ ที่ระบุว่า บริษัท China Railway No.10 อาจไม่ได้มีการประกอบกิจการที่เป็นหลักเป็นฐานจริง และยังพบความผิดปกติเรื่องส่วนต่างว่าจะเข้าข่ายฮั้วประมูลหรือไม่ หลังเป็นผู้ชนะการเสนอราคาโครงการก่อสร้างภาครัฐ 27 โครงการกับกิจการร่วมค้า 12 ราย วงเงินงบประมาณ 27,782 ล้านบาท ราคาตามสัญญาที่ 22,753 ล้านบาท ของ Number 10 ประเทศไทย และ Number 10 จีน ที่ลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูง ร่วมกับบริษัทอิตัลไทย ฯ ในนามกิจการร่วมค้าของบริษัท China Railway Engineering Group Ltd. (CREC) ซึ่งรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

พบมีการใช้เหมือนกันกับกิจการร่วมค้าของ Number 10 ประเทศไทยและอิตัลไทยฯ ที่ใช้ชื่อเดียวกัน แต่การจดทะเบียนพาณิชย์ใช้ชื่อต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ด้วยความซับซ้อนของโครงสร้างองค์กรของจีนที่ไม่ได้เป็นมาตรฐานตามระบบขององค์กรธุรกิจทั่วไปของโลก จึงไม่สามารถระบุชัดได้ว่า บริษัท CREC ซึ่งมีบริษัทลูก China Railway Engineering Group Company Limited (CEGL) เป็นบริษัทเดียวกันหรือไม่ เนื่องจากบริษัท Number 10 จีน มาจากบริษัทลูกของบริษัท China Railway Engineering Group Ltd. (CREC) ซึ่งรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือไม่

เนื่องจากมีการใช้ตราสัญลักษณ์เดียวกัน คือ "ไชนา เรลเวย์" ภายใต้ตรา China Railway Engineering Group Ltd. (CREC) จากเดิมใช้ชื่อ China Railway Engineering Corporation (CREC) และเป็น China Railway Engineering Group Company Limited (CREC) ในเวลาต่อมา

สำหรับ "ไชน่า เรลเวย์ เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป" China Railway Engineering Group มีโครงข่ายอยู่ 3 บริษัทใหญ่ โดยบริษัทที่มีปัญหา คือ ไชน่า เรลเวย์ เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป คอมพานี ลิมิเต็ด (China Railway Engineering Group Company Limited) (CREC) ส่วนบริษัทที่ประมูลการก่อสร้างอาคาร สตง.คือ บริษัทไชน่า เรลเวย์ Number 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทลูก

ดังนั้นจะเห็นว่า การลงทุนในต่างประเทศในนาม China Railway Engineering Equip ment Group Co., Ltd (CREG) จึงเป็นการลงทุนโดยตรงของ โฮลดิ้ง คอมพานี (บริษัทที่มีการประกอบธุรกิจโดยมีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นเป็นหลัก และไม่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญเป็นของตัวเอง) รายนี้ ไม่ได้ให้บริษัทลูกเข้ามาลุงทุนโดยตรง และไม่ได้ร่วมถือหุ้นกับบริษัทในท้องถิ่น

โดยความผิดปกติที่เกิดขึ้น คือ China Railway ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระดับโลก แต่ได้ให้บริษัทระดับเล็กสุด มาลงทุนในประเทศไทยกับโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่เป็น "นอมินี" ไม่มีที่มา-ที่ไป ซึ่งไม่ใช่วิสัยของบริษัทยักษ์ใหญ่ และผู้ถือหุ้นต้องมีการบริหารความเสี่ยง นำบุคคลที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือในแวดวงธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาใช้ เพื่อส่งเสริมสภาพคล่องในการลงทุน ถือว่าเป็นการกระทำอันผิดจริยธรรมของบริษัทลงทุนข้ามชาติ

จากพฤติการณ์ดังกล่าว อาจวิเคราะห์ได้ว่า กลุ่มธุรกิจที่เข้ามาเป็นการดำเนินการของกลุ่มทุนจีนใหม่ จากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่เข้าข่ายใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งฟอกเงินหรือไม่

นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลอีกว่า ไชน่า เรลเวย์ เข้ามาตั้ง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ Number 10 ประเทศไทย ซึ่งลักษณะการตั้งชื่อ ใช้คำว่า Number ไม่ใช้คำว่า NO. และไม่ใช่สัญลักษณ์ของ CREC ที่สำคัญ CREC ไม่เคยเอาเลขต่อท้ายโลโก ตรงนี้เป็นจุดที่เห็นว่า อาจไม่ใช่การลงทุนจากบริษัทแม่ ดังนั้นจึงไม่ใช่ความรับผิดชอบของรัฐวิสาหกิจจีนโดยตรง

ขณะที่โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ Number 10 มีคนไทย 3 คน และมีบริษัทในเครืออีก 13-21 บริษัท เมื่อบริษัทดังกล่าวมาเปิดกิจการดำเนินการในไทย แทนที่จะเข้าไปสู่วงการอุตสาหกรรมเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและเส้นทางขนส่ง เช่นเดียวกับบริษัทแม่ แต่กลับเข้ามาในอุตสาหกรรมระดับท้องถิ่น คือ เข้ามารับเหมาก่อสร้างในประเทศที่ตนเองไปลงทุน

ด้วยจำนวนโครงการก่อสร้างภาครัฐ 27 โครงการ จากบริษัทเล็ก ๆ ที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 67 ล้านบาท คำถาม คือ บริษัทเหล่านี้แบกรับสัญญาจ้างจากโครงการดังกล่าว เป็นเงินถึง 1.6 หมื่นล้านบาท ได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่ฐานะทางการเงินและผลประกอบการขาดทุนมาตลอด จนไม่สามารถมีผลกำไรเพียงพอต่อการคำนวณภาษีเงินได้

อ่านข่าว

อุตฯ เก็บเหล็ก สตง.สอบเพิ่ม ส่งหนังสือ DSI ร่วมสอบ ซิน เคอ หยวน

ตร.สอบพยาน 98 ปาก คดีตึก สตง.ถล่ม-ผู้รับเหมาพบ ตร.ถูกค้างค่าจ้าง

จับตาศึกยก 2 สังเวียนการค้าโลก "อเมริกา-จีน" เดินเกมตอบโต้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง