และแล้ว บอร์ดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีมติให้เพิกถอนการใช้สิทธิประโยชน์เป็นการชั่วคราวของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด เพื่อป้องกันความเสียหายระหว่างสอบข้อเท็จจริง โดยไม่กระทบกับสิทธิประโยชน์ที่ได้ใช้ไปแล้ว หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรม มีหนังสือเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2568 แจ้งพฤติกรรมของบริษัทฯว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรมฯ และ พ.ร.บ. มาตร ฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฯ
ในวันเดียวกัน “ซิน เคอ หยวน” อาจไม่ทันได้ตั้งหลัก เมื่อ “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รมว.อุตสาหกรรม ได้ขอศาลจ.ระยองออกหมายค้น “บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด” เลขที่ 170 หมู่ 3 ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยสนธิกำลังร่วมกับดีเอสไอและตำรวจสอบสวนกลาง หลังผลตรวจเหล็กเส้นข้ออ้อย ขนาด 32 มิลลิเมตร และเหล็กเส้นข้ออ้อย 20 มิลลิเมตร ของ SKY ตกค่ามาตรฐานถึงสองรอบ และไม่อนุญาตให้ทดสอบใหม่เป็นรอบที่สาม
ไม่ใช่เพราะเคราะห์ซ้ำกรรมซัด แต่เมื่อปลายปี 2567 “ซิน เคอ หยวน” หรือ SKY ถูกกระทรวงอุตสาหกรรมสั่งปิดโรงงานตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2567 เนื่อง จากฝ่าฝืนกฎหมายโรงงาน และผลิตเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. มีการยึดอายัดเหล็กทั้งหมดตั้งแต่เดือน ม.ค.2568 จำนวน 2,441 ตัน มูลค่ากว่า 49.2 ล้านบาท และให้เรียกคืนเหล็กจากท้องตลาดที่ผลิตจากบริษัทฯ พร้อมดำเนินคดีกับ SKY

ความวัวยังไม่ทันหาย เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ตึกสตง.ถล่ม ก็เข้ามาแทรก เมื่อมีการตรวจสอบคุณภาพเหล็กเส้น จาก 28 ตัวอย่าง ที่เก็บมาจากซากตึก ของ 3 บริษัท และพบว่าเหล็ก “ซิน เคอ หยวน สตีล” หรือ SKY ไม่ผ่านเกณฑ์ตามกำหนด กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำหนังสือถึงบริษัทดังกล่าว เพื่อขอข้อมูลย้อนหลัง ระหว่างปี 2563-2565 ซึ่งเป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่มีการสร้างตึกสตง.ว่า ได้มีการจัดหน่ายไปที่ใดบ้าง
แต่ข้อมูลที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับ คือ SKY อ้างว่า ไม่ได้จำหน่ายตรงให้ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด แต่ขายให้กับดีลเลอร์ ผู้ค้าส่งหลายเจ้า จึงไม่สามารถให้คำตอบได้ เนื่องจากบริษัทอยู่ระหว่างหยุดประกอบกิจการชั่วคราว
สำหรับ “ซิน เคอ หยวน สตีล” นอกจากมีโรงงานตั้งอยู่ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย แล้วยังพบ มีบริษัทในเครือคือ บริษัท ซิน เคอ หยวน จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2562 ทุนจดทะ เบียน 6 พันล้านบาท ทำธุรกิจผลิตเหล็ก และเหล็กกล้าขั้นมูลฐานอื่น ๆ ตั้งอยู่ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง มีกรรมการ 3 คน คือ นายสู้ หลงเฉิน, นายเหลินจง เฉิน และ นายสมพัน ปันแก้ว
สำหรับรายชื่อ 5 ผู้ถือหุ้นใหญ่ เดือนม.ค. 2568 ประกอบด้วย นายเฉิน เจี้ยนฉี ถือหุ้นใหญ่สุด 73.63 % นายชวู้หยวน หวง 5.12 % นายจิโรจน์ โรจน์รัตนวลี 5 % นายวิรุฬห์ สุวรรณนทีกุล 5 % นายจื่อเจีย เฉิน 2 % งบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 สินทรัพย์รวม 14,887ล้านบาท หนี้สินรวม 9,196 ล้านบาท รายได้รวม 320 ล้านบาท รายจ่ายรวม 86 ล้านบาท กำไรสุทธิ 234 ล้านบาท
นอกจากนี้ นายเฉิน เจี้ยนฉี หรือ “เจี้ยนฉี เฉิน” ผู้ถือหุ้นใหญ่ในเครือซิน เคอ หยวน ยังเป็นกรรมการบริษัทอีก 3 แห่ง คือ บริษัท ซิน เส้า หยวน จำกัด ทำธุรกิจผลิตเหล็กกล้า และเหล็กมูลฐานอื่น ๆ, บริษัท เจิ้นหวา อินเตอร์เนชั่นแนล ทัวริซึ่มและเทรดดิ้ง จำกัด จำหน่ายยาสูบซิการ์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบริษัท ไทยอินเตอร์สตีล จำกัด เลิกกิจการแล้ว
และนายเฉิน เจี้ยนฉี ยังถือหุ้นในบริษัทอีก 2 แห่ง คือ บริษัท ซิน เส้า หยวน จำกัด วัตถุประสงค์ การผลิตเหล็ก และเหล็กกล้าขั้นมูลฐานอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น (ถือ 48 %) และ บริษัท เอเชีย สเตป (ไทยแลนด์) จำกัด วัตถุประสงค์ รับจ้างเย็บชุดชั้นใน (ถือ 35.39 %)

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า แม้ SKY อ้างว่า ไม่ทราบว่าใครคือ ดีลเลอร์ตัวจริง แต่สามารถเรียกข้อมูลล็อตการผลิตย้อนหลังมาดูได้ เพื่อให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ตามมาตรา 56 พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
“อาจต้องมีการร้องทุกกล่าวโทษ เพราะเราอยากได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ว่ามีอาคารชุดไหนบ้างที่มีปัญหา ในเชิงวิศวกรรมเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของอาคาร สถานที่ ในจุดที่มีปัญหาจากการนำเหล็กดังกล่าว ไปใช้ในโครงการ เบื้องต้นพบว่า ซิน เคอ หยวน มีความผิดที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวโยงกับหลายพ.ร.บ.ทั้ง พ.ร.บ.โรงงานฯ พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้า” โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
นอกจากนี้ยังจะมีประเด็นอื่น ๆ ตามมา เนื่องจากพบว่า เฉิน เจี้ยนฉี กรรมการบริหารของบ.ซิน เคอ หยวน ไปเกี่ยวพันกับบริษัทอื่น ๆ ถึง 24 บริษัท และมี 4 บริษัทที่เป็นโรงงานเหล็กด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรภาค 3 ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัท ซิน เคอ หยวน จำกัด กับดีเอสไอ หลังพบบริษัทมีเจตนานำใบกำกับภาษีปลอมหรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่เดือน ก.ค. 58 - มี.ค. 60 จำนวน 7,426 ฉบับ มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท และหากรวมกับเบี้ยปรับ ความเสียมูลความเสียหายรวมอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ถือเป็นความผิดอาญาตามประมวลรัษฎากร ซึ่งตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2568 และขอให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ
โดย ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญ แม้จะเป็นกรณีที่ความผิดเกิดก่อนมีการดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานสตง.แต่เป็นผลจากการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันระหว่างดีเอสไอและกรมสรรพากรที่ขยายผลจากกรณีอาคารถล่ม และมีมูลค่าความเสียหายเข้าหลักเกณฑ์คดีพิเศษได้

ขณะที่การเข้าตรวจสอบคุณภาพเหล็กที่ใช้ในโครงการก่อสร้างอาคารสต.ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเบื้องต้นพบว่า เหล็กตกมาตรฐานนั้น จะเป็นคดีเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับคดีพิเศษหลัก “นอมินี” พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว และพ.ร.บ.ฮั้วประมูล จะสามารถรับหรือแยกสำนวนคดีพิเศษต่างหากหรือไม่ ต้องรอข้อมูลสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ก่อน
ขณะที่ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานโฆษกดีเอสไอ กล่าวว่า อาจแยกทำคนละสำนวน คือ สำนวนคดีนอมินี บริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ และสำนวนคดีเหล็กไม่ได้มาตรฐาน หากต้องแยกสำนวนเรื่องตรวจสอบเหล็กจริง ๆ ดีเอสไอจะเน้นสอบสวนตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เนื่องจากคดีนอมินีและคดีเหล็กไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม อาจปรากฏกลุ่มผู้กระทำผิด หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นคนละกลุ่มกัน
เนื่องจาก คดีพิเศษที่ใช้อำนาจอธิบดีดีเอสไอ รับเป็นต้องเป็นคดีเหล็กนำเข้า แต่เคสนี้เป็นเหล็กผลิตในประเทศ หากมีเรื่องเหล็กตกมาตรฐาน และเกี่ยวพันกับคดีพิเศษก่อนหน้านี้ ตามมาตรา 21 วรรค 2 รับได้ แต่ถ้าเป็นคดีที่พบเป็นความผิดแยกต่างหาก และไม่เกี่ยวกับคดีหลักที่รับก่อนหน้านี้ ต้องดูเงื่อนไขการรับคดีพิเศษว่า อธิบดีดีเอสไอ สั่งรับได้เองหรือต้องเข้าบอร์ด ยกเว้นแต่เรื่องฝุ่นแดงที่มีตัววัตถุอันตรายที่มีกฎหมายอีกตัวที่ไม่ใช่สมอ.ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“เหล็ก บริษัท ซิน เคอ หยวน ที่ตกมาตรฐานจากกระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจพบเมื่อปลายปี 2567 เป็นคนละกรณีกับ เหล็กตึก สตง.ถล่ม แล้วตรวจพบว่าตกมาตรฐาน รวมทั้งเหล็กที่ยึดได้ในคดีนี้ จะเข้าคดีพิเศษตามวรรค 2 ซึ่งดีเอสไอต้องพิจารณาว่าจะรับทางช่องนี้ได้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวพัน หากไม่มีข้อเท็จจริงเชื่อมโยงว่า ตกมาตรฐาน และไม่เกี่ยวพันกับคดีพิเศษก่อนหน้านี้ก็ต้องรับคดีแยกต่างหาก” พ.ต.ต.วรณัน ระบุ
นับเป็นอีกมหากาพย์เรื่องยาวของ “ซิน เคอ หยวน” บริษัททุนจีนผู้ผลิตเหล็กเส้นรายใหญ่ ที่ต้องถูกดีเอสไอรื้อหาความจริง ภายใต้แรงกระเพื่อมจากซากตึกมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทของสตง.
อ่านข่าว :
ขุดเบื้องลึก "ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ไทย)" ทุนจีนใหม่แผ่นดินใหญ่
“ซิน เคอ หยวน” สตีล บริษัทผลิตเหล็กก่อสร้าง “ทุนจีน-หุ้นไทย”
"กิจการร่วมค้า-ไชน่า เรลเวย์" คว้า 20 โครงการรัฐ มูลค่า 1.2 หมื่นล้าน