วันนี้ (16 เม.ย.2568) นายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีการตรวจสอบอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ย่านจตุจักร กทม.ที่พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ว่า

งบประมาณมากกว่า 2,000 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างอาคาร สตง.มาจากเงินสะสมของหน่วยงาน ซึ่งเป็นงบประมาณที่เหลือในแต่ละปีที่ สตง.เก็บสะสมไว้เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารสำนักงานของตัวเอง เพราะหากเป็นการของบประมาณจากสภาฯเชื่อว่า ไม่มีทางได้รับการอนุมัติจากสภาฯ อย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นเงินจำนวนมาก จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
สิ่งที่ กมธ.ป.ป.ช.ตั้งประเด็นตรวจสอบคือ การก่อสร้างอาคารภาครัฐที่ใช้งบประมาณมหาศาลเช่นนี้ มีการทุจริตหรือไม่ และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ หิน หรือทราย มีคุณภาพได้มาตรฐานหรือไม่ ได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญให้เป็นไปตามขั้นตอนของการสร้างอาคารขนาดสูงหรือไม่
กมธ.จำเป็นต้องได้ข้อมูลโดยละเอียดจากผู้บริหารหน่วยงาน จึงได้เชิญผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาชี้แจงและให้ข้อมูลแก่ กมธ.ในวันที่ 30 เม.ย.68 นี้ ทั้งนี้ กมธ.เคยเชิญผู้ว่าการ สตง.มาชี้แจงแล้วครั้งหนึ่ง แต่ทาง สตง.ขอเลื่อน

นายฉลาดยังกล่าวว่า หากไม่เกิดโศกนาฏกรรมและความสูญเสีย ปัญหาของอาคาร สตง.ก็จะถูกซุกอยู่ใต้พรมจนกว่ามีเหตุและความสูญเสีย ซึ่งก็ถือเป็นอุทาหรณ์ ที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กระจ่างเพื่อเป็นกรณีศึกษา ไม่ว่าจะเรื่องที่มาที่ไปของหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชน รายละเอียดสัญญาจ้างงาน การอนุมัติตรวจสอบแบบ การรับรองโดยบุคลากรวิชาชีพ มาตรฐานการควบคุมงาน ตลอดจนวัสดุต่าง ๆ ที่นำมาใช้ได้มาตรฐานหรือไม่ ทั้งหมดนี้ผู้ว่าการ สตง.ต้องมาชี้แจงโดยละเอียด

นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ก็ได้เชิญปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มาให้ข้อมูลในส่วนของมาตรฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนของวัสดุที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐานจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ รวมทั้งอาจมีการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมโหฬาร

ในส่วนของวิศวกรและบริษัทผู้ออกแบบอาคาร สตง.ก็ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับ และมีความเป็นกลาง มาให้ความคิดเห็นตามหลักวิชาชีพว่า การออกแบบก่อสร้างมีความเหมาะสมคุ้มค่าหรือไม่ การใช้วัสดุอุปกรณ์เป็นไปตามมาตรฐาน มีคุณภาพหรือไม่ ซึ่งเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการทุจริตหรือไม่
ส่วนตัวมองว่า จะไม่เกิดเหตุเช่นนี้ หากไม่มีนอกใน และยึดถือหลักวิชาชีพ ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทั้งหมดจะถูกเชิญมาชี้แจงต่อ กมธ.เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง ให้คำตอบกับสังคม เป็นบรรทัดฐานในอนาคต ทั้งนี้ หากพบข้อมูลว่า มีข้าราชการทุจริตประพฤติมิชอบ กมธ.ก็จะส่งให้ ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการต่อไป เชื่อว่าใช้เวลาไม่นาน เพราะมีข้อมูลหลายประเด็นที่เปิดเผยทางสื่อหลายแขนงแล้ว
ส่วนกรณีที่มีข้อมูลว่า ปี 2563 สตง.ได้จัดซื้อโทรศัพท์บ้านแบบแอนาล็อกจำนวน 2,000 เครื่อง งบประมาณกว่า 13.6 ล้านบาทนั้น นายฉลาด กล่าวว่า ถ้ามีการจัดซื้อจริงก็ต้องตรวจสอบว่า มีการนำมาใช้งานจริงบ้างหรือไม่ เพราะก่อนปี 2563 ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือใช้งานอยู่แล้ว ส่วนราชการเองก็จัดซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ตลอดจนสมาร์ตโฟนให้แก่ผู้บริหารและข้าราชการกันเป็นเรื่องปกติ

ไม่น่าจะมีเหตุความจำเป็นที่ต้องไปใช้งบประมาณถึง 13.6 ล้านบาทสำหรับโทรศัพท์ตั้งโต๊ะรุ่นเก่าเช่นนี้ แต่ก็มักพบบ่อย ๆ ว่า หน่วยราชการจะมีข้ออ้างในซื้อของที่ไม่จำเป็น รวมทั้งยังราคาแพงกว่าปกติ เพราะมีการบวกกำไรเข้าไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณเช่นนี้
อ่านข่าว : ความยากพิสูจน์อัตลักษณ์ ผู้เสียชีวิตตึกสตง.ถล่ม
"ทวี - ดีเอสไอ" สอบ "วิศวกร" ปมถูกปลอมลายเซ็นคุมงานตึก สตง.
ปภ.แจงไม่แจ้ง SMS แผ่นดินไหวกระบี่ จ่อทดสอบ Cell Broadcast