สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจากอาร์เจนตินา ทรงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในวันที่ 13 มี.ค.2013 หลังสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงสละตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นพระประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกที่ไม่ได้มาจากยุโรป ในรอบ 1,300 ปี
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงล้างเท้าและจุมพิตเท้าของคน 12 คน ในจำนวนนี้มีผู้หญิงและชาวมุสลิมรวมอยู่ด้วย จากเดิมที่จะมีแค่ชายชาวคาทอลิกเท่านั้น นี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม Holy Thursday หรือพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจัดขึ้นที่เรือนจำเยาวชนในกรุงโรมของอิตาลี 15 วัน หลังทรงรับตำแหน่ง
พระองค์ทรงเลือกใช้พระนามฟรานซิส ที่มาจากฟรานซิสแห่งอัสซีซี นักบุญที่สนับสนุนสันติภาพ ให้ความสำคัญกับผู้ยากไร้ และเคารพสิ่งแวดล้อม สะท้อนว่าทรงต้องการให้คริสตจักรภายใต้การนำของพระองค์ทรงเป็นคริสตจักรเพื่อผู้ยากไร้และสนับสนุนความเท่าเทียม

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การเสด็จเยือนเกาะลัมเปดูซาของอิตาลี ถือเป็นภารกิจนอกกรุงโรมครั้งแรกหลังทรงรับตำแหน่ง โดยการเสด็จเยือนครั้งนี้มีขึ้นเพื่อไว้อาลัยให้กับผู้อพยพหลายพันคนที่จมน้ำเสียชีวิตในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ระหว่างที่กำลังพยายามเดินทางมาแสวงหาโอกาสและชีวิตที่ดีขึ้นในยุโรป
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงพยายามทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงคริสตจักรของพระองค์ได้ในวงกว้าง และพยายามที่จะไม่ตัดสินใคร หรือแม้กระทั่งการให้ความเห็นเกี่ยวกับนักบวชที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้หลายคน มองว่า พระองค์ทรงให้การยอมรับกลุ่ม LGBT และคู่รักเพศเดียวกัน
แนวคิดในเรื่องการปฏิรูปที่ขัดจากความเชื่อหรือประเพณีเดิม ๆ ของคริสตจักร ทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงถูกวิจารณ์จากฝ่ายที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะคาร์ดินัล "จอร์จ เพลล์" จากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแกนนำคนสำคัญและเป็นพันธมิตรกับสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ด้วย แต่ขณะนี้เสียชีวิตไปแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีคาร์ดินัล "เรย์มอนด์ ลีโอ เบิร์ก" จากสหรัฐฯ ซึ่งเคยวิจารณ์ว่าคริสตจักรของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เปรียบเสมือนเรือที่ขาดหางเสือ และบิชอป "โจเซฟ อี. สตริคแลนด์" จากเท็กซัส ซึ่งทั้งคู่ถูกปลดหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ เมื่อปี 2023
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เปิดเผยว่า ได้รับกล่องสีขาวขนาดใหญ่จากสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ตอนที่รับมอบตำแหน่งเมื่อปี 2013 โดยในกล่องบรรจุเอกสารเกี่ยวกับข่าวอื้อฉาวมากมายที่ศริสตจักรเผชิญอยู่ในขณะนั้น ทั้งการใช้อำนาจโดยมิชอบ การล่วงละเมิดทางเพศ การทุจริต และการกระทำความผิดอีกหลายอย่าง
ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงพยายามเรียกคืนความเชื่อมั่นจากผู้ศรัทธาทั่วโลก ท่ามกลางคดีอื้อฉาวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่พระองค์จะทรงมารับตำแหน่งนี้ ในเดือน ก.พ.2019 ทรงเรียกประชุมผู้นำคริสตจักรเกือบ 200 คน ที่วาติกัน เพื่อแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็กภายในคริสตจักรที่เกิดขึ้นทั่วโลก หลังสั่งปลด "ธีโอดอร์ แมคคาร์ริค" อดีตอาร์คบิชอปแห่งวอชิงตัน ดีซี ออกจากตำแหน่งคาร์ดินัล
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสั่งสอบสวนคดีอาชญากรรมทางการเงิน ซึ่งรวมถึงการยักยอกทรัพย์ การฉ้อโกง การฟอกเงิน และการขู่กรรโชก และยังขับคาร์ดินัลจากอิตาลีออกจากตำแหน่ง หลังถูกกล่าวหาว่ายักยอกทรัพย์และเล่นพรรคเล่นพวกอีกด้วย
นอกจากควาพยายามในการแก้ปัญหาภายในคริสตจักรแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสยังทรงมีบทบาทในวิกฤตใหญ่ของโลกอีกหลายครั้ง รวม 3 เหตุการณ์ โดยพระองค์ทรงออกมาวิจารณ์การที่ประเทศร่ำรวยกักตุนวัคซีนโควิด-19 ทั้งที่ประเทศยากจนควรได้รับความช่วยเหลือก่อน รวมทั้งให้กำลังใจผู้คนทั่วโลกในการฝ่าวิกฤตที่เกิดขึ้น

แต่สำหรับสงครามรัสเซีย-ยูเครน พระองค์ทรงพยายามที่จะร้องขอสันติภาพสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง แต่คำร้องขอก็ไม่เป็นผล และรัสเซียยังคงโจมตียูเครนมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งวิจารณ์ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในกาซาหลายครั้ง และร้องขอให้ฮามาสปล่อยตัวประกันด้วย
ปัจจุบันทั่วโลกจับตามองว่า ใครจะได้ก้าวขึ้นมาเป็นพระประมุขของคริสตจักรโรมันคาทอลิกคนต่อไป ซึ่งตัวเก็งส่วนใหญ่มักมาจากฝั่งยุโรป แต่ในจำนวนนี้มีคาร์ดินัล "ลูอิซ อันโตนิโอ ทาเกล" จากฟิลิปปินส์รวมอยู่ด้วย
คาร์ดินัลทาเกลถูกขนานนามว่า เป็นฟรานซิสแห่งเอเชีย เนื่องจากให้ความสำคัญกับประเด็นความยุติธรรมทางสังคม หากได้รับเลือกจริงจะทำให้ก้าวขึ้นเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาองค์แรกที่มาจากเอเชีย
ทั้งนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงแต่งตั้งคาร์ดินัลที่มีอำนาจในการเลือกผู้นำ 108 คน จากทั้งหมด 135 คน ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญบางคน จึงมองว่าคริสตจักรอาจมีผู้นำคนใหม่ที่จะเข้ามาสานต่อนโยบายแนวคิดก้าวหน้า หรืออาจเป็นผู้นำที่เดินสายกลางมากขึ้น
อ่านข่าว : จากบัวโนสไอเรสสู่วาติกัน “โป๊ปฟราสซิส” พระผู้ทรงเปลี่ยนแปลงศาสนจักร