ป้องกันยุงกัด ร่วมต้านมาลาเรีย เนื่องในโอกาส วันมาเลเรียโลก (World Malaria Day) วันที่ 25 เมษายนของทุกปี จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับโรคมาลาเรีย ปัญหาสาธารณสุขสำคัญของไทยให้มากขึ้น
"โรคไข้มาลาเรีย" เป็น "โรคติดเชื้อโปรโตซัว" ในกลุ่มพลาสโมเดียม (Plasmodium spp.) มียุงก้นปล่อง (Anopheles) เป็นพาหะ ซึ่งยุงชนิดนี้มักออกหากินตั้งแต่ หัวค่ำถึงเช้าตรู่ ในประเทศไทย เชื้อที่พบมากคือ Plasmodium vivax
เคยมีรายงานการติดเชื้อจากคนสู่คนผ่านการรับเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะ และจากมารดาสู่ทารกในครรภ์แต่พบน้อยมาก
"ยุงก้นปล่อง" สปีชีส์ที่พบว่านำโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย ได้แก่ Anopheles dirus, An.minimus, An. maculatus, An. epiroticus, An. aconitus
เชื้อมาลาเรียที่ก่อโรคในคน มีทั้งหมด 5 ชนิด
1. Plasmodium falciparum เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมฟัลชิปารัม (P.f.) เป็นเชื้อชนิดรุนแรง หากป่วยหนัก อาจมีอาการมาลาเรียขึ้นสมอง ถ้ารักษาไม่ทันอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
2. Plasmodium vivax เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมไวแวกซ์ (P.v.) เป็นเชื้อชนิดไม่รุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รักษาให้หายขาด เชื้อสามารถอยู่ในร่างกายคนได้นานหลายปี จึงทําให้มีอาการของโรคไข้มาลาเรียเป็นๆ หายๆ
3. Plasmodium malariae เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมมาลาเรอิ (P.m.)
4. Plasmodium ovale เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโอวาเล (P.o.)
5. Plasmodium knowlesi เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโนไซ (P.k.) เป็นเชื้อที่อยู่ในลิงแสม แล้วติดมาสู่คน
การติดต่อของโรคนั้นเกิดขึ้น เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียมีเชื้อมาลาเรียกัดคน ยุงจะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายเข้าสู่กระแสเลือด
3 ระยะของโรคไข้มาลาเรีย
"คน" ถูก "ยุงก้นปล่อง" กัด และ "รับเชื้อมาเลเรีย" ระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน มีอาการนําคล้ายกับเป็นไข้หวัดแต่ไม่มีน้ำมูก โดยจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหาร อาการต่างๆ อาจเป็นอยู่ในระยะสั้นเป็นวันหรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวของเชื้อมาลาเรียแต่ละชนิด
อาการที่เด่นชัดของโรคไข้มาลาเรียประกอบด้วย 3 ระยะ คือ
1. ระยะหนาว มีอาการหนาวสั่น ห่มผ้าไม่หายหนาว ตัวเย็น ชีพจรเต้นเร็ว
2. ระยะร้อน ไข้ขึ้นสูง หน้าแดง ปากแห้ง หายใจถี่ กระหายน้ำ
3. ระยะเหงื่อออก มีเหงื่อออกมาก อุณหภูมิร่างกายเริ่มลดลง แต่อ่อนเพลียมาก
อาการอาจดูเหมือนดีขึ้นในช่วงหนึ่ง แล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง วนเวียนไปเรื่อย ๆ
วงจรชีวิตของ "เชื้อมาลาเรีย"
กรมควบคุมโรค อธิบายเกี่ยวกับ "วงจรชีวิตเชื้อมาลาเรีย" มีการเจริญเติบโตอยู่ 2 ระยะ คือ ระยะในยุงก้นปล่อง และ ระยะในร่างกายมนุษย์
เริ่มจากที่ยุงก้นปล่องตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่เป็น "โรคไข้มาลาเรีย" ซึ่งมีเชื้อมาลาเรียระยะมีเพศ เชื้อเข้าสู่ตัวยุงและผสมพันธุ์กันเป็น "ตัวอ่อน" ฝังตัวที่ "กระเพาะยุง" แล้วแบ่งตัวและเดินทางไปยัง "ต่อมน้ำลายยุง" คราวนี้ เมื่อยุงตัวนั้นไปกัดคน และปล่อยน้ำลายเพื่อไม่ให้เลือดแข็งตัวระหว่างการดูด ก็ปล่อยเชื้อมาลาเรียเข้าสู่กระแสเลือดคนเช่นกัน
- ระยะในตับ เมื่อยุงที่มีเชื้อมาลาเรียกัดคนก็ปล่อยเชื้อจากต่อมน้ำลายสู่กระแสเลือด และเข้าสู่เซลล์ตับ มีการแบ่งตัวเพิ่มจํานวนขึ้น จนถึงระยะหนึ่งก็แตกออกจากเซลล์ตับ เข้าสู่กระแสเลือดและเม็ดเลือดแดง
- ระยะในเม็ดเลือดแดง เมื่อเชื้อมาลาเรียแตกออกจากเซลล์ตับ เข้าสู่เม็ดเลือดแดงก็มีการแบ่งตัวเพิ่มจํานวนมากขึ้น จนถึงช่วงเม็ดเลือดแดงแตก เชื้อก็จะเข้าสู่เม็ดเลือดแดงอื่นๆเพื่อหาอาหารเลี้ยงตัว มีการเจริญแบ่งตัววนเวียน
ทั้งนี้เชื้อบางตัวมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเชื้อมีเพศทั้งเพศผู้เพศเมีย ระยะนี้ผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการของโรค คือ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ระยะนี้ตรวจพบเชื้อมาลาเรียในเลือดได้
เชื้อมาลาเรีย เป็นเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า จึงต้องตรวจหาเชื้อโดยใช้กล้องจุลทรรศน์หรือตรวจหาสารภูมิต้านทานของเชื้อ โดยใช้ชุดตรวจหาเชื้อมาลาเรียสําเร็จรูป
เนื่องจากเชื้อมาลาเรียชนิดพีเอฟ (P.f) เมื่อป่วยแล้วรักษาไม่ทัน อาจทําให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยมาลาเรียทุกราย จะต้องได้รับการตรวจและให้ยารักษาตามชนิดของเชื้อมาลาเรียโดยเร็วที่สุด
สถานการณ์ "ไข้มาลาเรีย 2568"
ปัจจุบันประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรีย โดยเฉพาะตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตก ส่วนใหญ่เป็นเชื้อ Plasmodium vivax ซึ่งมีระยะแฝงในตับ ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศป่าเขา และมียุงพาหะอาศัยอยู่ชุกชุม เป็นพื้นที่เปราะบางและมีความไวต่อการแพร่โรคสูง อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถพบได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เนื่องจากการเคลื่อนย้ายประชากรที่สูงและการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการขยายพันธุ์ของยุงพาหะ ขณะที่ในพื้นที่ที่เคยปลอดโรค ประชากรมักมีภูมิคุ้มกันต่ำลง ทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงได้
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย จากข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 18 เม.ย. 2568 (สัปดาห์ที่ 16) พบผู้ป่วยสะสมทั่วประเทศ 1,826 คน แบ่งตามชนิดเชื้อดังนี้
- เชื้อไวแวกซ์ (P. vivax) 1,690 คน
- เชื้อฟัลซิปารัม (P. falciparum) 115 คน
- เชื้อโนวไซ (P. knowlesi) 11 คน
- เชื้อชนิดอื่น ๆ 10 คน
มีผู้ป่วยรายใหม่ 184 คน (ลดลงร้อยละ 38.04 เมื่อเทียบกับปี 2567 แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังในพื้นที่) โดย 5 จังหวัด ที่มีจำนวนป่วยสูง ได้แก่ จ.ตาก, กาญจนบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, แม่ฮ่องสอน, ชุมพร (ข้อมูลจากระบบมาลาเรียออนไลน์)
ยารักษาโรคไข้มาลาเรีย เมื่อตรวจเลือดแล้วพบเชื้อมาลาเรีย การรักษาด้วยยาต้านมาลาเรียโดยเร็วที่สุดจะช่วยให้เชื้อหมดไปจากกระแสเลือด ทั้งป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรง ขณะที่ ยารักษามาลาเรียต้องจ่ายตามชนิดเชื้อมาลาเรียเท่านั้น ผู้ป่วยต้องกินยาตามขนาด เวลาและจำนวนให้ครบถ้วน
ทำอย่างไร ให้ห่าง "โรคไข้มาลาเรีย"
- โรคไข้มาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้
- ต้องป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัดในช่วงที่ยุงออกหากินตั้งแต่ช่วงค่ำจนเช้าตรู่
- วิธีป้องกันยุงกัดที่รู้จักกันแพร่หลายคือ การนอนในมุ้งทุกคืน หากเป็นมุ้งชุบน้ำยาก็ช่วยไล่ยุงได้
- ทายากันยุงบริเวณผิวหนังนอกเสื้อผ้า
- ใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดแขนขาให้พ้นจากยุงกัด เช่น เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว
- หากค้างคืนในป่าเขา ไร่นา ต้องรู้จักป้องกันตนเอง เช่น นอนในมุ้ง หรือหากใช้เปลนอน ก็ให้หามุ้งคลุมเปลพร้อมทั้งใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดแขนขาให้พ้นจากยุงกัด และทายากันยุง
ประเทศไทยมียุงกี่ชนิดชนิด
ทั่วโลกมียุงหลายพันสายพันธุ์ แต่เฉพาะในประเทศไทยก็พบมากถึง ประมาณ 450 ชนิด โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ
- ยุงยักษ์ (Toxorhynchitinae)
- ยุงก้นปล่อง (Anophelinae)
- ยุงลายและยุงรำคาญ (Culicinae)
ยุงแต่ละชนิดจะมีลักษณะและพฤติกรรมไม่เหมือนกัน เช่น ยุงลายชอบหากินตอนกลางวัน ยุงก้นปล่องและยุงรำคาญจะชอบหากินตอนกลางคืน ส่วนยุงยักษ์ไม่ดูดเลือด กินแต่น้ำหวาน เป็นยุงที่มีประโยชน์เนื่องจากลูกน้ำยุงยักษ์ช่วยกินลูกน้ำยุงพาหะ
นอกจากจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองผื่นแพ้แล้ว ยุงยังเป็นพาหะที่สำคัญของโรคหลายชนิด ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้ป่วยและตาย จากยุงจำนวนมาก
- ยุงก้นปล่อง (Anopheles) เป็นพาหะนำ "โรคมาลาเรีย"
- ยุงเสือ/ยุงลายเสือ (Mansonia) เป็นพาหะ "โรคเท้าช้าง"
- ยุงรำคาญ (Culex) เป็นพาหะนำ "โรคไข้สมองอักเสบ"
- ยุงลาย (Aedes) เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นพาหะนำ "โรคไข้เลือดออก"
ยุงก้นปล่องอยู่ที่ไหน รู้ไว้ลดเสี่ยงไข้มาลาเรีย
"ยุงก้นปล่อง" คือยุงที่เป็น "พาหะนำโรคไข้มาลาเรีย" ซึ่งเป็นโรคที่อันตราย แต่สามารถป้องกันได้
"ยุงก้นปล่อง" มีลักษณะลำตัวขนาดเล็ก สีดำหรือน้ำตาลเข้ม มีปีกใสและเกาะตัวทำมุม 45 องศากับพื้นผิว ปลายท้องยกขึ้น ถิ่นอาศัยของ "ยุงก้นปล่อง" มักพบในพื้นที่ป่าเขา พื้นที่การเกษตร สวนที่ติดกับชายป่า สวนยางพารา และอุทยานทางธรรมชาติ แหล่งน้ำใสไหลเอื่อยๆ เช่น ลำธาร แอ่งน้ำซึบ น้ำซับ และจะออกหากิน หัวค่ำจนถึงเช้าตรู่
วันที่ 25 เมษายนของทุกปี วันมาลาเรียโลก (World Malaria Day)
อ้างอิงข้อมูล : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, แนวทางเวชปฎิบัติในการรักษาผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรีย สำหรับแพทย์ประเทศไทย พ.ศ.2568
อ่านข่าว : เปิดข้อมูล เครื่องบิน DHC6-400 Twin Otter เข้าประจำการ ตร.ปี 63
ราคา “ทองคำ” บวก 200 “รูปพรรณ” ขายออก 53,800 บาท
สั่งปิดชั่วคราว "ซูเปอร์มาร์เก็ตจีน" ไม่ขออนุญาตประกอบกิจการ
แท็กที่เกี่ยวข้อง: