นายกสภาม.มหิดล-คณบดีแพทย์ศิริราช ขอโทษสังคม กรณีโลโก้ไทยเบฟฯโผล่งานรำลึกวันมหิดล
เมื่อวันที่ 22 กันยายน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยมหิดล มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีวาระที่ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาเพิ่มเติม เ มื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากภาคประชาชน อาทิ แพทย์ เภสัช ทันตแพทย์ ทนายความ นักวิชาการ นักวิจัย นักกฎหมาย ผู้นำศาสนา แกนนำชุมชน และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 436 รายชื่อ เข้ายื่นข้อรียกร้องที่ต้องการให้งดเผยแพร่โปสเตอร์งานรำลึกวันมหิดล ที่มีตราสัญลักษณ์ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัทผู้ผลิตเบียร์ และงดรับทุนสนับสนุนจากบริษัทเหล่านี้ และเมื่อคณะกรรมการฯทั้ง 29 คน ได้พิจารณาแล้ว จึงมีมติเห็นด้วย ต่อข้อเรียกร้องที่ให้ยกเลิกการใช้โปสเตอร์ที่ปรากฎตราสัญลักษณ์ดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้เมื่อปีที่ผ่านมา คณะกรรมการฯก็ได้มีมติออกไปแล้ว โดยให้ฝ่ายบริหารไปทำการสร้างกรอบกติกาการประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ และก็มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ส่วนเรื่องที่ทางเครือข่ายฯขอไม่ให้รับสปอนเซอร์จากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายนี้นั้น ที่ประชุมเห็นว่าคงเป็นเรื่องยาก เพราะหากจะว่าไปแล้วงบประมาณของแผ่นดินเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ หรือจะเก็บค่ารักษาพยาบาลจากประชาชนเหมือนโรงพยาบาลเอกชนก็คงไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยเงินที่บริจาคเข้ามา
“ผมต้องขอโทษสังคมไทยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เองก็ได้มีการขอโทษต่อที่ประชุมและขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามต่อจากนี้การรับเงินบริจาคคงต้องระมัดระวังให้มากขึ้น โดยเฉพาะต้องมีเงื่อนไข อาทิ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ทางสภามหาวิทยาลัยก็มีความเป็นห่วงว่าในปีต่อๆไป อาจจะมีการโฆษณาในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก เพราะบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการผลิตสินค้าใหม่ๆออกมาตลอดเวลา และที่สำคัญโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี ถือเป็นสัญลักษณ์ในเรื่องของสุขภาพและเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ จึงเป็นไปได้ว่าธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับบริษัทของตัวเอง ประกอบกับปัจจุบันนี้ถือว่าเราอยู่ในโลกของทุนนิยม ซึ่งเรื่องการรับบริจาค ก็คงต้องมีเงื่อนไขให้มากขึ้น” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
ด้านนายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) และในฐานะผู้นำในการยื่นข้อเรียกร้อง กล่าวหลังรับทราบมติจากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดลว่า ต้องขอขอบคุณ ที่คณะกรรมการฯทุกท่านรับฟังเสียงท้วงติงจากภาคประชาชน และยินดีงดเผยแพร่ตราสัญลักษณ์ของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายนี้ และจะมีเงื่อนไขในการรับเงินบริจาค โดยเฉพาะการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงอยากเสนอเชิญชวนให้แสดงความกล้าหาญในฐานะสถาบันผู้นำด้านสุขภาพของประเทศ ให้ออกมาแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการบริจาคเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทน้ำเมา ดังเช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดหลายท่าน หรือ นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หลายแห่ง ได้ประกาศตัวไม่รับทุนสนับสนุนจากบริษัทน้ำเมาเพื่อจัดงานประเพณี งานบุญ งานกาชาด ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคมไปได้มากและลดปัญหาต่างๆลงได้ชัดเจน เช่น นายกเทศมนตรีเมืองน่าน นายสุรพล เธียรสูตร ประกาศวาระของเทศบาลจะต่อต้านน้ำเมาทุกรูปแบบ เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์คนน่านเมืองคนอายุยืน เพราะมีข้อมูลว่า คนน่านอายุสั้นตายเร็วเพราะเหล้าเบียร์ หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ที่ประกาศงานกาชาดไม่รับทุนน้ำเมา เป็นต้น จึงหวังว่า จะมีการทบทวนมติของสภามหาวิทยาลัยในโอกาสต่อไป
ขณะที่ ด้าน นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรินครินทรวิโรฒิ หนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อคัดค้าน กล่าวว่า การที่สถาบันสุขภาพรับสปอนเซอร์จากบริษัทน้ำ ตนไม่มองว่าเป็นแค่เรื่องธรรมดา ซึ่งกรณีแบบนี้ยังมีคณะแพทย์ หรือ สถานศึกษาด้านสุขภาพอื่นๆ รวมทั้ง กระทรวงสาธารณสุข ก็ยังรับการบริจาค จึงแสดงให้เห็นว่าใน พ.ศ.นี้วงการแพทย์และสาธารณสุข มองว่าการรับบริจาคเป็นเรื่องปกติธรรมดา อย่างไรก็ตาม หวังว่าบทเรียนครั้งนี้จะเกิดการตั้งคำถามต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งคำถามต่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งระบุในพันธกิจว่า "ชี้นำสังคมไทยในด้านสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิต” โดยหากเปรียบเทียบจากกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบแห่งองค์การอนามัยโลก จะมีความก้าวหน้าไปมาก เพราะระบุชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือของหน่วยงานในความดูแลของรัฐ ห้ามรับเงินบริจาคใด ๆ จากอุตสาหกรรมยาสูบ ดังนั้น เครือข่ายฯที่ร่วมลงชื่อคงไม่หยุดเราอยากจะได้กรอบจริยธรรมแบบการควบคุมยาสูบ และจะมีการหารือเพื่อกำหนดเป็นจริยธรรมด้านควบคุมน้ำเมาของประเทศต่อไป