ภาคเอกชนร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ต้านคอร์รัปชั่น
การทุจริตคอร์รัปชั่นที่ฝังรากในไทยมานานและรุนแรงมากขึ้น ทำให้ภาคเอกชนบางส่วนรวมตัวกันจัดตั้งภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นเพื่อลดปัญหาดังกล่าว โดยวางยุทธศาตร์สำคัญไว้ 3 ด้าน โดยเฉพาะการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหา
<"">
<"">
ปัญหาทุจริตเงินแผ่นดินและทุจริตเชิงนโยบายด้วยการออกกฎระเบียบเพื่อเอื้อโยชน์แก่พวกพ้อง, การติดสินบนเจ้าพนักงาน ที่รุนแรงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ภาคเอกชนบางส่วนตระหนักถึงปัญหาคอร์รัปชั่น จึงได้เกิดการรวมตัวเป็นภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสร้างจิตสำนึกในเรื่องนี้ให้กับประชาชน แม้จะไม่มีอำนาจดำเนินการทางกฎหมายโดยตรงก็ตาม
ภาคีเครือข่ายฯ แบ่งการทำงานเป็น 2 ระดับ คือ ระดับภาคี ซึ่งมีสมาชิกในลักษณะองค์กรที่มารวมกลุ่ม เช่น สมาคมต่างๆ หรือองค์กรอิสระของรัฐ ปัจจุบันมี 30 แห่ง นอกจากนี้ยังมีระดับองค์กร ซึ่งสมาชิกจะเป็นบริษัททั่วไป ทั้งนี้ได้กำหนดยุทธศาสตร์หลักอยู่ 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1.กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 2. การป้องกันที่ภาคเอกชนสามารถปฏิบัติได้ และ 3.การปลูกจิตสำนึก
การจัดตั้งศูนย์ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นที่นายดุสิต นนทะนาคร ประธานภาคีเครือข่ายคนแรกผู้ล่วงลับ มีแนวคิดจัดตั้งขึ้น เป็นหนึ่งในช่องทางรับเรื่องร้องเรียนการทุจริตคอร์รัปชั่น และประสานความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ก่อนที่จะกลั่นกรองข้อมูลเพื่อนำเสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น ป.ป.ช., ป.ป.ง., ส.ต.ง.
นอกเหนือรับเรื่องร้องเรียนการทุจริตแล้ว ศูนย์แห่งนี้ยังทำหน้าประเมินวัดระดับการคอร์รัปชั่นของประเทศ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสายตานักลงทุนต่างชาติที่จะตัดสินใจลงทุนว่าไทยมีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ผู้จัดการศูนย์ภาคีฯ เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้ประเทศเดินไปสู่ความสุจริตโปร่งใสและเที่ยงธรรม โดยหนึ่งในกิจกรรมนั้นคือการเดินรณรงค์รวมพลังต่อต้านคอร์รัปชั่นพร้อมกันทั่วประเทศโดยในวันที่ 25 ก.ย.นี้