ครม.สั่งลดปล่อยน้ำจากวันละ 28 เหลือ 18 ล้านลบ.ม. อนุมัติ 6 หมื่นล.ยืดหนี้-ปล่อยกู้เกษตรกร 1 ล้านคน
วานนี้ (14 ก.ค.2558) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบลดการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลัก จากวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.เป็นต้นไป เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้อุปโภคและบริโภคภายใน 30 วันจนถึงกลางเดือนส.ค. ซึ่งคาดว่าฝนจะตกอีกครั้ง จึงต้องขอความร่วมมือเกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้หยุดการสูบน้ำตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป เนื่องจาก ไม่สามารถส่งน้ำให้การเกษตรได้แล้ว
ทั้งนี้การระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลระบายอยู่ที่ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือวันละประมาณ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ปล่อยน้ำวันละ 17 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้เหลือ 11 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปัจจุบันระบายที่ 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้เหลือ 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ระบายวันละ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้เหลือ 1 ล้าน ลูกบาศก์เมตร
ส่วนการบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร ที่ประสบภัยแล้ง ครม.เห็นชอบวงเงินรวมกว่า 60,000 ล้านบาท โดยยืดเวลาชำระหนี้ ปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 30,000 ล้านบาท รวมทั้งปล่อยสินเชื่อเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการเพาะปลูก อายุสินเชื่อ 3 ปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรประมาณ 1 ล้านคน พร้อมให้ธนาคารของรัฐ ช่วยเปลี่ยนแหล่งเงินกู้ หรือรีไฟแนนซ์ โดยธนาคารออมสิน จะดูแลในส่วนของประชาชนทั่วไปรายละ 500,000 บาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ดูแลเกษตรกร รายละ 100,000 บาท และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์จะดูแลในส่วนที่ดินที่อยู่อาศัย
นอกจากนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยังเตรียมเสนอให้ครม.พิจารณาภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้ง โดยจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ หรือ 15,000 บาทต่อครัวเรือน รวม 1,340,000 ครัวเรือน วงเงิน 20,200 ล้านบาท
ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้กำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร กรณีที่รัฐบาลจำเป็นต้องปรับลดปริมาณการระบายน้ำเหลือ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมขอร้องเกษตรกรให้รอน้ำฝนในช่วงเดือนสิงหาคม ที่คาดว่าจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นก่อนทำการเพาะปลูก ขณะที่ผลกระทบต่างๆ รัฐบาลจะให้การดูแลอย่างเต็มที่
นางรัตนา กิจวรรณ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เปิดเผยว่า มี 9 พื้นที่ ที่กำลังประสบภาวะภัยแล้งจนขาดแคลนน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา โดยแบ่งเป็น พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ประกอบด้วยพื้นที่ อ.ปักธงชัย และอ.พิมาย จ.นครราชสีมา อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี และพื้นที่จ.อำนาจเจริญ ซึ่งในภาพรวมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่ที่ขาดน้ำดิบ อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ซึ่งกปภ.ใช้วิธีการผลิตและปล่อยน้ำประปาเป็นเวลาเพื่อจำกัดปริมาณการใช้น้ำ ส่วนภาคเหนือมี 3 จังหวัด ได้แก่ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ และจ.พะเยา
ภาคใต้ที่อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ภาคกลางอ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เป็นพื้นที่ที่น่ากังวลที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลายน้ำ อยู่ใกล้เมืองหลวง และมีผู้ใช้น้ำประปาจำนวนมาก จำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และยังต้องขอความร่วมมือเกษตรกรที่อาศัยอยู่ตอนบนของคลองระพีพัฒน์ จะให้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหนในการที่จะไม่สูบน้ำ และปิดทางกั้นทางน้ำไหล
ส่วนความเคลื่อนไหวในพื้นที่อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ที่กรมชลประทานเริ่มระบายน้ำให้การประปาผลิตน้ำประปานั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ในบริเวณ คลอง 13 ให้ความร่วมมือตามคำร้องของของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาธัญบุรี ที่ขอความร่วมมือชาวบ้านเหนือสถานีผลิตนำประปา งดสูบน้ำเพื่อให้มีน้ำไหลมาถึงสถานีสูบน้ำ แต่ยังพบว่า มีชาวบ้านบางส่วนที่ยังเดินเครื่องสูบน้ำอยู่ ขณะที่ต้นคลอง 13 มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ สูบน้ำเข้าช่วยเหลือคลอง 14 จำนวน 1 เครื่อง และส่วนฝั่งคลองระพีพัฒน์ตอนล่าง ได้หยุดเดินเครื่องสูบน้ำไป 3 เครื่อง แต่ยังคงเดินเครื่องเพียง 1 เครื่อง เพื่อกระจายน้ำช่วยเหลือชาวบ้าน คลอง 12 ไล่ลงมาถึง คลอง 10
โดยระบายน้ำเข้าคลอง 13 วันละ 600,000-700,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนสถานีผลิตน้ำประปา สามารถสูบน้ำดิบไปใช้ได้วันละประมาณ 50,000-60,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้ถือว่าสามารถนำน้ำดิบไปใช้ผลิตน้ำประปาได้แล้ว แต่ก็ต้องเฝ้าระวังตรวจสอบสถานการณ์น้ำตลอดเวลา และระดับน้ำที่แห้งขอดจนไม่สามารถพยุงถนนไว้ได้ ทำให้ถนนเลียบคลอง 13 ฝั่งตะวันตก ต.นพรัตน์ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ทรุดตัว ไหลลงไปในคลอง จนทำให้แนวปูนป้องกันตลิ่งเสียหายด้วย