กรมชลประทานยันไม่ได้บริหารน้ำผิดพลาด เผยน้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลักมากกว่าปี 57 ถึง 600 ลบ.ม.
น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นเป้าหมายเดียวของการบริหารจัดการน้ำในขณะนี้ ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนใหญ่ เหลือแค่วันละ 18 ล้าน ลบ.ม. แม้ยอมรับว่ามาตรการนี้ทำให้ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบ แต่กรมชลประทานยืนยันว่าไม่ได้มาจากการบริหารจัดการน้ำผิดพลาด โดยเฉพาะการประกาศให้ชาวนาในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปลูกข้าวเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 58 ก่อนจะประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง
นายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ระบุว่า ปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักในขณะนี้มีจำนวน 3,800 ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปี 2557 ถึง 600 ลบ.ม. และมากกว่าแผนสำรองที่ตั้งไว้เผื่อหน้าแล้งที่ต้องมีปริมาณน้ำประมาณ 3,600 ลบ.ม. ฉะนั้น ในปีที่แล้วมีแค่ 3,200 ลบ.ม. กรมชลฯ ยังส่งน้ำให้กับเกษตรกร ดังนั้น ในปีนี้หากมีฝนตกลงมาบ้างจะส่งน้ำให้เกษตรกร ถ้าไม่ตกก็จะไม่ส่ง เพราะหลักบริหารน้ำของกรมฯ คือเป็นน้ำที่เสริมน้ำฝน และเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง
“การบริหารจัดการน้ำชลประทานหน้าแล้งไม่พอคือการบริหารน้ำผิดพลาด แต่ที่ผ่านมาก็ผ่านมาได้ แล้วน้ำต้นทุนยังเหลือมากกว่าที่บอกไว้ แสดงว่าเราบริหารมาถูกต้องแล้ว” ผอ.สำนักบริหารจัดการนำและอุทกวิทยา กรมชลประทานกล่าว
ทั้งนี้ กรมชลประทานคาดการณ์ว่า พื้นที่เกษตรลุ่มน้ำเจ้าพระยาจำนวน 800,000 ไร่ จะได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ โดยเฉพาะในที่ดอนและปลายคลองส่งน้ำ
ขณะที่ การประปานครหลวงแจงเพิ่มเติมว่า พื้นที่ กทม.จะมีน้ำประปาใช้เพียงพอ และก่อนหน้านี้ได้ลดปริมาณการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงร้อยละ 10 รวมถึงลดแรงดันการจ่ายน้ำตั้งแต่เวลา 22.00 น.-05.00 น.ของวันถัดไป ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้น้ำน้อยที่สุด เพื่อประคองสถานการณ์และลดปริมาณการใช้น้ำในช่วงที่หลายพื้นที่เกิดวิกฤติภัยแล้ง
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- Thai PBS
- Thaipbsnews
- กปน.
- กรมชลประทาน
- ช่วงเวลาลดแรงดันการจ่ายน้ำกทม.
- ทองเปลว กองจันทร์
- น้ำต้นทุน
- น้ำประปา
- น้ำในเขื่อน
- ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา
- ภัยแล้ง
- ภัยแล้ง58
- วิกฤติภัยแล้ง
- เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
- เขื่อนภูมิพล
- เขื่อนสิริกิติ์
- เขื่อนหลักลดปล่อยน้ำ
- เขื่อนแควเขื่อนน้อยบำรุงแดน
- ไทยพีบีเอส