เครือข่ายแพทย์ -เครือข่ายผู้บริโภค ร้อง รมว.อุตสาหกรรม เร่งรัดมาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน
เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่กระทรวงอุตสาหกรรม นพ.อดุลย์ บัณฑุกุล เลขาธิการสมาพันธ์อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ประกอบด้วย 3 สมาคม คือ สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมาคมการพยาบาลอาชีวอนามัยแห่งประเทศไทย และสมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน พร้อมด้วย เครือข่ายแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กว่า 50 คน เป็นตัวแทนจากเครือข่ายนักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาสังคม เดินทางมายื่นหนังสือติดตาม “มาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน” พร้อมเสนอเอกสารทางวิชาการและข้อมูลทางด้านการแพทย์เพื่อสนับสนุน ตามมติ ครม.วันที่ 12 เม.ย. 2554 ให้พิจารณาห้ามนำเข้าแร่ใยหิน โดยขอเข้าพบ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
นพ.อดุลย์ เปิดเผยว่า สมาพันธ์อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งมี รศ.นพ.ศุภชัย รัตนมณีฉัตร เป็นนายกสมาพันธ์ฯ ได้ร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายต่างๆ โดยเฉพาะเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ได้ศึกษาถึงอันตรายและผลกระทบของแร่ใยหินทุกชนิดเพื่อสนับสนุนและผลักดันนโยบายที่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานและประชาชน โดยสมาพันธ์ฯ มีข้อมูลทางวิชาการนำเสนอต่อ รมว. อุตสาหกรรม ดังนี้ 1.มีหลักฐานชัดเจนว่า แร่ใยหินไคร์โซไทล์เป็นสารก่อมะเร็งและก่ออันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ 2.เหตุผลการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ทันทีโดยไม่ต้องรอให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรงของโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดในประเทศไทย และ 3.ขอให้ รมว.อุตสาหกรรมเร่งรัดและติดตามมาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหินตามมติ ครม. วันที่ 12 เม.ย.2554 ซึ่งการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ การยกเลิกไม่ให้มีการใช้ไคร์โซไทล์ในผลิตภัณฑ์ โดยมีข้อเสนอของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2553 จากภาคประชาชนได้เสนอมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินภายในปี 2555 และให้ดำเนินการควบคุมให้แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่4 อย่างเร่งด่วนภายในปี 2554
นพ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า จากการที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเห็นชอบไม่ปรับปรุงให้แร่ใยหินไคร์โซไทล์เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้คงไว้เป็นชนิดที่ 3 เหมือนเดิม ทำให้บริษัทผู้ผลิตยังสามารถนำเข้า ผลิต และครอบครองแร่ใยหินไครโซไทล์ได้ และยืดเวลาการห้ามนำเข้าออกไปอีก 1 ปี เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตามมติครม.วันที่ 12 เม.ย. 2554 ที่ระบุว่า “ห้ามผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์ที่ใช้วัตถุดิบอื่นหรือใช้ผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนได้” เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มผลิตภัณฑ์ทั้ง 5 ชนิด ได้แก่ กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ กระเบื้องยาง ท่อน้ำ และผ้าเบรก เป็นกลุ่มที่ใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบมากกว่า 90% ซึ่งระบุว่ามีสารทดแทนแล้ว จะเห็นจากการที่บริษัทที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ 2 แห่งคือ บริษัทเอสซีจี จำกัดและบริษัทมหพันธ์ไฟเบอร์ซึ่งมีสัดส่วนการตลาด 70% ได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในกระบวนการผลิต ทางสมาพันธ์ฯ และเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค มีความห่วงใยต่อปัญหาดังกล่าว ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยผลักดันเชิงนโยบายให้เป็นไปตามมติครม. และกำกับให้กลุ่มธุรกิจของไทยแสดงความรับผิดชอบที่พึงมีต่อสังคม สร้างสุขภาพที่ดีให้แก่แรงงานไทย“
จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขปี 2551 พบผู้มีความผิดปกติที่มีอาการเข้าได้กับโรคจำนวน 39 ราย และพบผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากเหตุอาชีพ 1 รายในปี 2553 แอสเบสโตซิส 3 ราย มีอาการเข้าได้กับแอสเบสโตซิส 7 ราย เยื่อหุ้มปอดหนา 37 ราย ที่สำคัญขณะนี้มีการตรวจพบผู้ต้องสงสัยที่อาจป่วยเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่มีประวัติสัมผัส สูดดมแร่ใยหินอย่างต่อเนื่องเพิ่มอีก 1 ราย ขณะนี้รอการตรวจยืนยันชิ้นเนื้อ และยังมีแรงงาน ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยที่อาจป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจอีก 1 ราย เหตุที่สถิติของอัตราการเกิดโรคยังมีน้อยอยู่นั้น เพราะขาดระบบการบันทึกประวัติการทำงาน ประวัติการสัมผัสที่ต้องเชื่อมโยงกับระบบข้อมูลสุขภาพ ส่งผลต่อระบบการวินิจฉัยโรค รวมทั้งยังขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับแร่ใยหิน” เลขาธิการสมาพันธ์ฯ กล่าว และว่า ส่วนกรณีที่ผู้ใช้น้ำประปาเกรงว่า ท่อส่งน้ำประปาที่มีส่วนประกอบจากท่อใยหินนั้น เป็นอันตรายหากนำน้ำมาบริโภค ไม่เป็นความจริง เนื่องจากโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจะเกิดจากการสูดดม สัมผัสแร่ใยหินที่ฟุ้งกระจายจากเศษวัสดุเท่านั้น
นพ.อดุลย์ กล่าวว่า หากกระทรวงอุตสาหกรรม ยังไม่เร่งออกมาตรการป้องกันและยกเลิกแร่ใยหิน จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพแรงงานไทยและคนไทยอย่างมาก โดยนักวิชาการจากญี่ปุ่นได้ทำวิจัยคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากการสัมผัสแร่ใยหินไคร์โซไทล์ 1,000 รายต่อปี และอนาคตอันใกล้คาดว่าจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากยังปล่อยให้มีการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ จะส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลมหาศาล และยังไม่นับความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของแรงงานไทย สุดท้ายแล้วจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยต่อไป
ด้านนายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะผู้รับมอบแทน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งเฉย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำแผนศึกษาการทำลด ละ เลิกการนำเข้าแร่ใยหิน ตามมติ ครม . 12 เม.ย.54 ที่จะให้สังคมไทยไม่ต้องใช้แร่ใยหิน โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ขอเวลาในกำหนดกรอบและวางแนวทาง 6 เดือน จากนั้นจะเปิดให้ภาคีและเครือข่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินไคร์โซไทล์อย่างเป็นระบบต่อไป อย่างไรก็ขณะนี้ต้องขอเวลา เพราะมีผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ยังไม่สามารถหาวัตถุดิบอย่างอื่นมาทดแทนแร่ใยหินไคร์โซไทล์ได้ หากประกาศให้แร่ใยหินไคร์โซไทล์เป็น วัถตุอันตรายชนิดที่ 4 ประเทศไทยจะไม่สามารถนำเข้ามาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตได้เลย