ครบรอบ 70 ปีภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก
ความขัดแย้งระหว่างผู้นำไม่ควรให้ประชาชนต้องเสียเลือดเนื้อ คือใจความสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" แม้จะอิงโครงเรื่องจากสงครามยุทธหัตถี แต่การตีความใหม่เพื่อสื่อถึงแนวคิดเรื่องสันติภาพ ทำให้เหตุผลของสงคราม เปลี่ยนจากการขยายบารมี และช่วงชิงอำนาจระหว่างอโยธยา และหงสา เป็นการต่อสู้เพื่อยุติสงคราม
เป้าหมายที่ต้องการเผยแพร่แนวคิดเรื่องสันติภาพสู่สากล ทำให้ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประพันธ์และอำนวยการสร้าง ถ่ายทำต้นฉบับภาพยนตร์เป็นภาษาอังกฤษ โดยให้มีการพากย์สดเมื่อฉายในประเทศไทยในสมัยนั้น ในวาระครบรอบ 70 ปีของภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก หอภาพยนตร์จึงจัดทำฉบับพากย์ภาษาไทย เพื่อให้ภาพยนตร์เข้าถึงผู้ชมชาวไทยมากขึ้น โดยได้ความร่วมมือจากครอบครัวของผู้สร้าง คือดุษฎี บุญทัศนกุล ลูกสาวของปรีดี พนมยงค์ ที่ชักชวนให้ดนย ผู้เป็นหลาน มาให้เสียงภาษาไทยของพระเจ้าจักรา ตัวเอกของเรื่องอีกด้วย
ไม่เพียงสื่อถึงประเด็นสันติภาพที่เป็นเรื่องสากลของมนุษยชาติ แต่พระเจ้าช้างเผือก ยังรวบรวมยอดฝีมือทางด้านภาพยนตร์ในสมัยนั้น โดยเฉพาะในเรื่องการถ่ายทำช้างประกอบฉากจำนวนมาก ซึ่งโดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ กล่าวไว้ว่า เป็นเรื่องที่ถ่ายทอดภาพช้างออกมาได้สวยที่สุด
ด้วยฟิล์มต้นฉบับของไทยที่สูญไปในเพลิงไหม้ระหว่างสงคราม ทำให้ภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกที่ฉายอยู่ในปัจจุบัน และได้รับการพากย์เสียงภาษาไทยในครั้งนี้ คือสำเนาที่หอภาพยนตร์ไทยจัดซื้อมาจากหอสมุดรัฐสภาอเมริกาที่เคยนำภาพยนตร์ไปฉายเมื่อ 70 ปีก่อน หนึ่งในความตั้งใจของหอภาพยนตร์ ที่ต้องการรักษามรดกทางวัฒนธรรมชิ้นสำคัญ ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป