กรีซปรับครม. ปลดรัฐมนตรีที่ต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด
การปรับคณะรัฐมนตรีของกรีซในครั้งนี้มีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่กลุ่มยูโรโซนอนุมัติเงินกู้ระยะสั้น 7,000 ล้านยูโรให้กรีซ เพื่อให้กรีซนำไปใช้หนี้คงค้างให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
นักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุของการปรับคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ เพราะนายอเล็กซิส ซีปราส นายกรัฐมนตรีต้องการแสดงให้กลุ่มเจ้าหนี้เห็นว่าเขาสามารถควบคุมคณะรัฐมนตรีได้ โดยผูัที่ถูกปลดออกจากคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นกลุ่มคนที่มีแนวคิดต่อต้านมาตรการรัดเข็มและต้องการให้กรีซออกจากกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน) ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้เข้าพิธีสาบานตนเรียบร้อยแล้ว
การต่อต้านของคนกลุ่มนี้เห็นได้ชัดเจนจากการลงมติรับรองแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งมีผู้ลงมติคัดค้าน 32 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง โดยในจำนวนนี้มีสมาชิกของพรรคไซริซาซึ่งเป็นพรรครัฐบาลรวมอยู่ด้วย หากปล่อยให้ผู้ที่มีแนวคิดขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรียังทำงานหน้าที่ในคณะรัฐมนตรีต่อไป อาจจะทำให้การผลักดันนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งเป็นเงื่อนไขในการขอเงินกู้ทำได้ยาก
สำนักข่าวรอยเตอร์ได้สอบถามความเห็นของชาวกรีกเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี ชาวกรีกบางคนบอกว่าการปรับคณะรัฐมนตรีเป็นสิ่งที่ควรทำเพราะหากปล่อยให้มีความเห็นขัดแย้ง รัฐบาลจะไม่สามารถทำงานให้บรรลุผลได้ เพราะในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องเข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียว ขณะที่บางคนบอกว่าตนไม่เห็นด้วยการมาตรการรัดเข็มขัด แต่เมื่อมาถึงจุดนี้ทุกคนควรจะปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงและเดินหน้าต่อไป
หลังจากที่มีความเป็นไปได้ว่ากรีซจะได้รับเงินกู้งวดที่ 3 มูลค่า 86,000 ล้านยูโรจากกลุ่มเจ้าหนี้ในวันที่ 20 ก.ค.2558 ธนาคารทุกแห่งของกรีซจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังจากที่ปิดไปนานถึง 3 สัปดาห์ แต่การถอนเงินยังคงจำกัดอยู่ที่วันละ 60 ยูโรหรือประมาณ 2,400 บาท
รายงานของหอการค้าและอุตสาหกรรมเอเธนส์ระบุว่า ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ภาคธนาคารระงับการให้บริการได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่าสูงถึง 3,000 ล้านยูโร หรือ ประมาณ 120,000 ล้านบาท โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้แก่ภาคการส่งออก การค้าปลีก รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่ต้องทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งความเสียหายนี้ยังไม่นับรวมภาคการท่องเที่ยว