บทเรียนการอ่านจากเพื่อนบ้าน เร่งสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ส่งเสริมให้ “คนไทยรักการอ่าน”
งานประชุมวิชาการ Thailand Conference Reading 2011 โดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ นอกจากการบรรยายพิเศษและการอภิปรายในหัวข้อต่างๆแล้ว ยังมีการนำเสนอรายงานด้านการส่งเสริมการอ่านของเพื่อนบ้านที่น่าสนใจ ซึ่งมีบางประเด็นที่ไทยเองควรนำมาขบคิด! หากต้องการให้คนไทยหันมาอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น 10-20 เล่มต่อปีภายในปี 2556 หลังพบสถิติการอ่านเพียง 2-5 เล่มต่อปี
รองศาสตราจารย์ เซติโอโน ซูกิฮาร์โต อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย Atma Jaya Catholic อินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ สื่ออินโดนีเซียเคยรายงานว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีอัตราการไม่รู้หนังสืออยู่ในระดับสูงติดหนึ่งในเก้า โดยระหว่างปี 2538-2548 อัตราการไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่สูงมากกว่าร้อยละ90 และยังมีรายงานของภาคเอกชนที่ให้บริการการศึกษาฟรีแก่เด็กในชุมชนแออัดระบุว่า เด็กๆ ชาวอินโดนีเซียไม่มีนิสัยชอบอ่านหนังสืออีกด้วยนั้น
ในเรื่องนี้รองศาสตราจารย์ เซติโอโน ซูกิฮาร์โต ได้โต้แย้งรายงานดังกล่าวว่า ปัญหาการไม่รู้หนังสือที่มีมาเนิ่นนาน รวมทั้งปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการรู้หนังสือของเด็กโดยทั่วไปในอินโดนีเซียนั้น ไม่ได้มาจากปัญหาด้านวัฒนธรรมแต่อย่างใด แต่เกิดจากการไม่สามารถเข้าถึงหนังสือมากกว่า และคนส่วนใหญ่ของประเทศมีฐานะยากจนโดยเฉพาะเด็กๆในพื้นที่ที่ห่างไกล
ทั้งนี้จากรายงานการวิจัย “ตำนานของวัฒนธรรมการไม่รู้หนังสือ : กรณีของเด็กอินโดนีเซีย” ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ระบุว่า ‘เด็กอินโดนีเซียเป็นนักอ่านตัวยง’ ไม่ใช่ไม่มีนิสัยรักการอ่าน แต่ห้องสมุดที่มีมีอยู่จำกัดเฉพาะในเมืองใหญ่ ทำให้เด็กยากจนในพื้นที่หลายแห่งที่ห่างไกลขาดโอกาสเข้าถึงหนังสือในห้องสมุด แต่เด็กๆมักไปร้านขายหนังสือเป็นประจำในวันหยุดสุดสัปดาห์และเลือกหยิบอ่านหนังสือที่ชอบและให้ความเพลิดเพลินมากกว่า เช่น การ์ตูน หรือ นิยาย และไม่ชอบอ่านตำราหรือหนังสือเรียนที่ครูและผู้ปกครองสั่ง
รองศาสตราจารย์ เซติโอโน ซูกิฮาร์โต มองว่า การอ่านหนังสืออ่านเล่น เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของเด็ก และการอ่านโดยสมัครใจถือเป็นก้าวแรกในการสร้างวัฒนธรรมการอ่านของเด็ก รวมทั้งการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงห้องสมุดและหนังสือจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการพัฒนาการรู้หนังสือของเด็กปัจจุบันเด็กชาวอินโดนีเซียมีความกระตือรือร้นหรือสนใจในการอ่านหนังสือมากขึ้น
ที่สำคัญคือ ผลการวิจัยชิ้นนี้ ยังได้ชี้ให้เห็นว่า ‘ การอ่านหนังสือเบาสมอง หรืออ่านในสิ่งที่ชอบ ก็มีคุณค่า สามารถนำไปสู่นิสัยรักการอ่านได้ และทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียนได้เช่นกัน ดังนั้น จากคำกล่าวที่ว่า เด็กอินโดนีเซียไม่มีนิสัยรักการอ่าน จึงเป็นเพียงตำนานไปแล้ว ’
ด้าน ศาสตราจารย์ แอมบิกาปาธี ปานเดน ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและภาษาศาสตร์ และประธานคณะกรรมการเอเชียเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสมาคมการอ่านนานาชาติ จากประเทศมาเลเซีย ได้นำประสบการณ์น่าสนใจมาแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะผลวิจัยที่พบว่า ‘พฤติกรรมการอ่านของคนรุ่นใหม่ในมาเลเซียในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาอยู่ในภาวะถดถอย’ การอ่านกำลังสูญเสียความนิยมไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อม ครอบครัวและโรงเรียน การอ่านของคนมาเลเซียกลายเป็นเพียงกิจกรรมเพื่อให้สอบผ่านเท่านั้น เพราะระบบการศึกษาในมาเลเซียให้ความสำคัญกับการสอบแข่งขันมากกว่า และเมื่อจบแล้วพฤติกรรมการอ่านของพวกเขาก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ศาสตราจารย์ แอมบิกาปาธี ปานเดน ระบุถึงพฤติกรรมดังกล่าวว่า “คนเรียนจบปริญญาแล้วมักไม่อ่านหนังสือ จึงไม่ต่างอะไรกับคนอ่านหนังสือไม่ออก! คนมีการศึกษาในมาเลเซียไม่อยากอ่านหนังสือเป็นผลมาจากการไม่ได้ปลูกฝังนิสัยการอ่าน และไม่ชอบการอ่านหนังสือ ดังนั้นยุทธศาสตร์ส่งเสริมการอ่านของมาเลเซียจึงมุ่งส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อส่งเสริมการอ่านขึ้น เพื่อจัดกิจกรรมที่จะส่งเสริมพฤติกรรมการอ่านในมาเลเซีย เช่น โครงการ Read 1 Malaysia เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่านตลอดชีวิต การจัดนิทรรศการ กิจกรรมการอ่านที่หลากหลายที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าร่วม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนมาเลเซียอ่านหนังสือ และโครงการ NILAM ที่กระทรวงศึกษาธิการริเริ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมและบ่มเพาะความรักในการอ่านสำหรับนักเรียนทั้งชั้นประถมและมัธยม เป็นต้น”
เช่นเดียวกับ ศาสตร์จารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการคนสำคัญของไทยที่ได้กล่าวถึงนิสัยการอ่านของคนไทย ในมิติด้านวัฒนธรรมในงานเดียวกันนี้ว่า ‘คนไทยไม่ใช่ชาตินักอ่าน’ และการอ่านของคนไทยก็ผูกพันกับระบบการศึกษาแบบเก่า ที่มุ่งให้เด็กจดจำความจริงเพียงด้านเดียว ทำให้เด็กเครียดและเบื่อการอ่าน ขณะที่ความจริงมีหลายมิติและมีความซับซ้อน ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความตื่นตัว และเพลิดเพลินในการอ่าน แม้ปัจจุบันคนไทยสามารถอ่านออกเขียนได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คนไทยกลับอ่านหนังสือกันน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน
“ตราบเท่าที่เราไม่ทำให้การอ่านนั้นเป็นการหาความสุขของชีวิต หากเรายังไม่มีการปรับปรุงระบบการศึกษา ‘สังคมไทยก็จะยังไม่เป็นสังคมรักการอ่าน’ และการส่งเสริมการอ่านก็...ไร้ความหมาย ”
แนวคิดดังกล่าวยังได้สอดรับกับมุมมองของ รองศาสตราจารย์ อรศรี งามวิทยาพงศ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้หยิบรายงานวิจัยเรื่อง “ปัจจัยส่งเสริมคนไทยให้มีวัฒนธรรมการอ่าน” ขึ้นมาแลกเปลี่ยนด้วยว่า ‘อุปสรรคการอ่านที่สำคัญ คือ ความล้มเหลวของการส่งเสริมการอ่าน ที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษา ’
“ ดังนั้น เมื่อการศึกษาเป็นอุปสรรคและบั่นทอนการอ่าน จึงควรมีการปฏิรูประบบการศึกษาใหม่ที่ต้องเอื้อต่อการส่งเสริมการรักการอ่าน โดยต้องให้ความสำคัญกับการคิดยุทธศาสตร์ในระดับมหภาค ซึ่งจะมีผลต่อปัจจัยที่เอื้อและปัจจัยที่เป็นอุปสรรคของการเกิดและการตายของ ‘วัฒนธรรมการอ่าน’ ปัจจัยดังกล่าวจะมีอิทธิพลต่อการส่งเสริมการอ่านอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่กำหนดวิถีชีวิตของผู้คน เช่นกรณีของประเทศเนเธอแลนด์ ซึ่งเคยเป็นประเทศที่มีสถิติการอ่านสูง ปัจจุบันอัตราการอ่านหนังสือเริ่มลดลง สาเหตุคือ วิถีชีวิตที่เอื้อต่อการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไป” รองศาสตราจารย์ อรศรี กล่าว
อย่างไรก็ดี ยังมีการตั้งข้อสังเกตจาก ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ รองเลขาธิการ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ถึงปัญหาการอ่านของคนไทยว่า ในด้านโครงสร้างพื้นฐานการอ่านของคนไทยนั้นแทบไม่มีปัญหา เพราะมีทั้งร้านหนังสือจำนวนมาก ขณะที่ต่างจังหวัดเองก็มีห้องสมุดจำนวนมากแต่ก็ยังอยู่ในหลักพันแห่งจากจำนวน 8,000 ตำบล แสดงให้เห็นว่ายังไม่เพียงพอ
ผลสำรวจขององค์กรประเมินคุณภาพการศึกษาของไทยพบว่า มีเยาวชนไทยเพียงร้อยละ 21 เท่านั้นที่อ่านหนังสือแล้วเข้าใจเนื้อหา และผลสำรวจตลาดหนังสือยังพบว่าหนังสือเรื่องย่อละคร และหนังสือพิมพ์กีฬา เป็นหนังสือขายดีที่สุด ปัญหาคือ เด็กไทยกำลังอ่านอะไร!!
นอกจากนี้ ดร.ชัยยศ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คนไทยนอกจากอ่านหนังสือที่เน้นความบันเทิงแล้ว ยังไม่อ่านภาษาอังกฤษ ทั้งที่การรณรงค์ก้าวไปสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในปี2558 ระบุไว้ว่าจะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ซึ่งน่าสงสัยว่าคนไทยจะสื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้านเราได้หรือไม่ เพราะเพื่อนบ้าน เช่น ลาว หรือกัมพูชา สามารถเข้าใจภาษาไทย แต่คนไทยกลับไม่เข้าใจภาษาเพื่อนบ้าน ทั้งยังไม่เข้าใจภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งถือเป็นอุปสรรคอีกประการของการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เช่นกัน “ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่าการอ่านไม่ใช่แค่ทักษะเท่านั้น แต่ต้องยกระดับไปสู่ “วัฒนธรรม”แล้ว
ที่สำคัญต้องปลูกฝังนิสัยตั้งแต่เด็กให้เห็นความสำคัญของ ‘การอ่าน’ ทำให้เคยชิน ต้องปลูกจิตสำนึกใหม่ เช่นกรณีของเกาหลีใต้ที่สามารถใช้วัฒนธรรมการอ่านในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ จนประสบความสำเร็จ” ดร.ชัยยศ กล่าว