สำรวจโครงการลดอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ทั่วไทย ของเยาวชน โดยเยาวชน และเพื่อเยาวชน
อุบัติเหตุจราจรทางถนน ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของประเทศไทย ในปี 2553 ประเทศไทยได้ลงนามในปฏิญญามอสโก ร่วมกับประเทศต่างๆ รวม 100 ประเทศ และต่อมาองค์การสหประชาชาติ ประกาศให้ทศวรรษนี้เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน และเริ่มขับเคลื่อนการสวมหมวกนิรภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยในการประชุมสัมมนาระดับชาติ “เรื่องอุบัติเหตุจราจร” ณ ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ได้เปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่มาร่วมสะท้อนความคิดเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุภายในรั้วโรงเรียน ในหัวข้อ “ตัวเล็กใจใหญ่ ปลอดภัยทางถนน” เพื่อส่งเสริมพลังให้เยาวชนไทยเป็นผู้นำความปลอดภัย และร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน
เวทีดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจาก บ.กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ที่ได้ขับเคลื่อนโครงการเรื่องความปลอดภัยท้องถนนมาตั้งแต่ปี 2551 ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายประสิทธิ์ คำเกิด รองกรรมการผู้จัดการ ด้านปฏิบัติการ บ. กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ให้ข้อมูลว่า บ. กลางฯ ทำงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และคุ้มครองการจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งพบว่าแต่ละปีมีผู้ขอรับค่าเสียหายถึง 3.5 หมื่นครั้ง ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 1.4-1.5 หมื่นคน ซึ่งถือเป็นตัวเลขเฉพาะที่มีการประกันภัยเท่านั้น รวมถึงมีผู้บาดเจ็บ 3.5 หมื่นคน เป็นคนพิการ 5 พันคน นอกจากนี้ยังพบว่า รถจักรยานยนต์มีมากกว่ารถชนิดอื่นคิดเป็น 71 เปอร์เซ็นต์ และ 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ประสบภัยเป็นเยาวชนอายุ 15-25 ปี ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้สังคมไทยจะสูญเสียมหาศาล บริษัทจึงมาคิดในแง่ธุรกิจว่า จะมาคอยตั้งรับแล้วก็จ่าย โดยไม่มีส่วนช่วยสังคมนั้นคงไม่ได้แล้ว จากนั้นจึงได้ทำแผนงานการสร้างจิตสำนึกรักความปลอดภัยในสถานศึกษา และได้เข้ามาร่วมสะท้อนความรู้ในครั้งนี้ด้วย
เวทีตัวเล็กใจใหญ่ ปลอดภัยทางถนน มีสถานศึกษาเข้าร่วมสะท้อนความคิด 16 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มี 10 แห่งที่ทำโครงการร่วมกับ บ. เอ.พี ฮอนด้า จำกัด ในโครงการ Zero Accident อยู่ก่อนแล้ว อาทิ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง วิทยาลัยสารพัดช่างกำแพงเพชร วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี วิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี และสถานศึกษาอีก 7 แห่ง อาทิ โรงเรียนบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น โรงเรียนบ้านเขาพระ จ.สงขลา โรงเรียนกะทู้วิยา จ.ภูเก็ต วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด จ.ระยอง ประถมศึกษาธรรมศาสตร์ จ.ปทุมธานี โรงเรียน ปทุมเทพวิทยาคาร จ.หนองคาย เป็นต้น
บรรยากาศการแลกเปลี่ยนความรู้ของทั้ง 16 สถานศึกษาเป็นไปอย่างสนุกสนาน นักเรียนที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนต่างคิดหาวิธีในการสร้างถนนปลอดภัยในสถานศึกษา บ้างก็ใช้วิธีการใครไม่ใส่หมวกกันน็อคไม่ให้เข้าโรงเรียน บ้างก็ใช้วิธีการจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เรื่องการขับขี่รถอย่างไรถึงจะปลอดภัย ด้วยพิธีกรสาวสวย บางแห่งถึงกับใช้กฎเหล็กว่า ถ้าหากใครไม่ขับรถตามกฎจราจร และขับสวนเลน จะทำโทษโดยการยึดใบขับขี่แล้วส่งไปให้ฝ่ายปกครอง บ้างก็ใช้ความชอบของเด็กวัยรุ่นเรื่องการแต่งรถ โดยจะสอดแทรกวิธีการแต่งรถอย่างไรให้ปลอดภัยเข้าไปด้วย
เช่นเดียวกับ ต้น-ศุภชัย ศรีอุทัย นักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ที่แสดงความคิดเห็นว่า วิทยาลัยมีนักศึกษากว่า 5 พันคน มีนักศึกษาที่ขับรถจักรยานยนต์มาเรียนกว่า 4 พันคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากและทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แต่ทางโรงเรียนและผู้ใหญ่ใจดีก็เข้าใจในความเป็นวัยรุ่น ด้วยการใช้ความชื่นชอบในศิลปิน จัดคอนเสิร์ตและสอดแทรกความรู้เรื่องขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างไรให้ปล่อยภัย
“พอมีการจัดคอนเสิร์ต นำศิลปินที่วัยรุ่นชอบมาแสดง สร้างแรงจูงใจให้วัยรุ่นเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น คือถ้าหากเป็นการจัดกิจกรรมธรรมดาๆ คงน่าเบื่อ แล้ววัยรุ่นที่ไหนจะเข้าร่วม แต่ถ้ามีคอนเสิร์ตมีแรงจูงใจ ผมเองและเพื่อนๆ ในวิทยาลัยก็อยากรู้ อยากเข้าร่วม แม้หลังจบคอนเสิร์ตไปแล้ว เราก็อยากเข้าไปในบูทที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบ พ.ร.บ.การจราจร ขับรถต้องสวมหมวกกันน็อคนะ ไม่อย่างนั้นพอเกิดอุบัติเหตุอาจถึงตายได้” ต้น เล่าอย่างอารมณ์ดี
ขณะที่ บูม-ปฏิวัฒน์ อุตราศรี นักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ ได้ร่วมสะท้อนว่า วันนี้ได้มาเห็นเพื่อนๆ นักศึกษาจากวิทยาลัย และโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศคิดแผนงานที่จะดูแลเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน แล้วรู้สึกว่าทุกคนตื่นตัวมาก มีแนวคิดดีๆ ให้เอากลับไปทำที่วิทยาลัย และรู้สึกว่าเราต้องขับรถให้ปลอดภัยอย่าประมาท รวมถึงอยากไปบอกต่อเพื่อนคนอื่นๆ ว่า ถ้าใครอยากขับรถเร็ว อยากซิ่ง ขอให้ไปบอกครูที่โรงเรียนว่า อยากแข่งรถ ครูจะได้จัดสนามแข่งรถให้ เพราะสนามแข่งรถปลอดภัย และไม่ทำให้คนอื่นเดือนร้อนไปด้วย เพราะอย่าลืมว่า อันตรายของการขับรถเร็วไม่ได้เกิดผลเสียแค่ตัวเราเอง
แต่ยังมีบุคคลอื่นที่เราไม่รู้จักต้องมาเจ็บตัวไปด้วย และอยากให้คิดว่า พ่อแม่ซื้อรถให้เราเพราะอะไร เพราะเขาอยากให้เราเดินทางไปโรงเรียนอย่างสะดวกใช่หรือไม่ ไม่ใช่ซื้อรถมาให้เราไปแข่งกัน อยากแข่งจริงๆ ควรไปแข่งที่สนามแข่งรถจะดีกว่า เพื่อรักษาชีวิตตัวเอง และไม่ทำร้ายคนอื่นด้วย
ด้านนายวินิจ พลพิทักษ์ ครูโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร ที่พานักเรียนมาร่วมแลกเปลี่ยนว่า โรงเรียนเข้าร่วมงานในวันนี้ได้ เพราะเริ่มจากความอยากใส่หมวกกันน็อคของนักเรียนก่อน โรงเรียนมีนักเรียน 3 พันกว่าคน มี 1,700 กว่าคนที่ขับรถจักรยานยนต์มาโรงเรียน และมี 770 คนที่ไม่มีหมวกกันน็อค จากนั้นก็มีโครงการ “หมวกบุญ” ของ บ.กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ร่วมกับทุกภาคส่วนเข้าร่วมจัดกิจกรรมขึ้น จนทำให้ทุกวันนี้เด็กนักเรียนมีหมวกกันน็อคใส่แล้ว จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้เข้ามาร่วมสะท้อนความคิดในเวทีนี้
“วันนี้ที่สังเกตดูเด็กๆ ที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ เด็กๆ ตื่นตัวมาก พอเริ่มต้นความคิดก็ไหล อย่างโรงเรียนโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร เขาได้ประยุกต์การรณรงค์ให้สวมหมวกกันน็อคเข้ากับกิจกรรมกีฬาสีในโรงเรียน ซึ่งจะเริ่มในเดือนพ.ย.นี้ และหากนักเรียนแต่ละสีทำผิดกฎจราจร คือไม่สวมหมวกกันน็อคจะมีการตัดคะแนน ถ้าตำรวจจรจรจับได้ตัด 40 คะแนน หากไม่ใส่ในโรงเรียนตัด 20 คะแนน ตรงนี้เด็กๆ เขาจะไม่ยอมแพ้กันเลย ทำให้ทุกคนไม่อยากทำผิดกฎจราจร ผลดีจากตรงนี้ เราอยากพัฒนาให้เด็กอยากใส่หมวกกันน็อคเป็นนิสัย ไม่ใช่ใส่เพราะเดี่ยวถูกจับ” นายวินิจ สะท้อน
หลังจากนี้สถานศึกษาทั้ง 16 แห่งที่เข้าร่วมสะท้อนความคิดเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน จะนำโครงการที่ได้สะท้อนในเวทีดังกล่าว ส่งให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนได้สานต่อโครงการและสร้างเครือข่ายที่กว้างมากขึ้น