ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นาซาพบดาวเคราะห์ "คู่แฝด" ของโลก

Logo Thai PBS
นาซาพบดาวเคราะห์ "คู่แฝด" ของโลก

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯหรือนาซาเปิดเผยการค้นพบดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกมากที่สุด โดยนาซาระบุว่าดาวเคราะห์ดวงนี้่เปรียบเสมือนกับ "ดาวคู่แฝด" ของโลกและอาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซาใช้กล้องเคปเลอร์ (Kepler) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์มีกำลังขยายสูง สำรวจพบดาวเคราะห์ในกลุ่มดาวซิกนัส (Cygnus) หรือกลุ่มดาวหงส์ซึ่งมีลักษณะคล้ายโลกมากที่สุดและตั้งชื่อว่า "เคปเลอร์ 452b" (Kepler-452b) นาซายังระบุอีกว่าดาวเคราะห์ที่เปรียบเสมือนกับดาวลูกพี่ลูกน้องหรือคู่แฝดของโลกนี้อยู่ในโซนของกลุ่มดาวที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต

ดาวเคราะห์เคปเลอร์ 452b มีขนาดใหญ่กว่าโลกถึงร้อยละ 60 นอกจากนี้่ยังมีอายุมากกว่าโลก อยู่ห่างจากโลกประมาณ 1,400 ปีแสง โดยโคจรอยู่รอบดาวที่มีลักษณะคล้ายกับดวงอาทิตย์และมีระยะการโคจรเท่าๆ กับโลก รวมทั้งมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่น มีทะเล แสงแดดเหมือนกับโลกและอาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

ก่อนหน้านี้นาซาเคยประกาศการค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลกมาแล้วหลายครั้ง แต่ดาวเคราะห์ที่พบส่วนใหญ่ยังขาดคุณสมบัติบางอย่างที่ใกล้เคียงกับโลก เช่น บางดวงมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดเกินกว่าที่สิ่งมีชีวิตจะดำรงชีวิตอยู่ได้ ต่างจากดาวเคราะห์เคปเลอร์ 452b ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ของนาซาระบุว่าเป็นดาวคู่แฝดของโลกจึงตั้งชื่อเล่นให้ว่า "Earth 2.0"

นายมติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค "มติพล ตั้งมติธรรม" ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการค้นพบดาวเคราะห์คู่แฝดโลกไว้ว่า ดาวเคราะห์ Kepler-452b เป็นดาวเคราะห์ที่มีมวลใกล้เคียงกับโลกและโคจรรอบดาวฤกษ์ที่คล้ายดวงอาทิตย์ในกลุ่มดาวหงส์ และโคจรอยู่ใน habitable zone ของดาวฤกษ์ นี่นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลก โคจรอยู่ใน habitable zone รอบๆ ดาวที่คล้ายดวงอาทิตย์

ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์ที่ค้นพบใหม่ในลักษณะถาม-ตอบไว้ดังนี้

ดาวเทียม Kepler คืออะไร
- ดาวเทียม Kepler คือกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ที่ถูกส่งออกไปเพื่อค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

เราสามารถหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้อย่างไร
- ดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นนั้น มีความสว่างน้อยกว่าดาวฤกษ์มาก และอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์เกินกว่ากล้องโทรทรรศน์ใดๆ ที่มนุษย์เคยประดิษฐ์ขึ้นมาจะสามารถแยกแยะออกจากกันได้ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถที่จะ "เห็น" ดาวเคราะห์อื่นนอกระบบสุริยะได้ (ขนาดดาวพลูโตเรายังไม่เคยเห็นรายละเอียดจนกระทั่งส่งยานไปสำรวจ) วิธีที่เราสามารถค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบได้ ก็คือการสังเกตการเกิดอุปราคาของดาวเคราะห์ ดาวเทียม Kepler จะทำการบันทึกภาพท้องฟ้าในบริเวณเดียวกัน ซ้ำกันไปเรื่อยๆ และเปรียบเทียบความสว่างของดาวฤกษ์ โดยส่วนมากแล้วดาวฤกษ์จะมีความสว่างเท่าเดิม แต่เมื่อใดก็ตามที่มีดาวเคราะห์เคลื่อนผ่าน ความสว่างของดาวฤกษ์จะลดลงเล็กน้อย และกลับขึ้นมาใหม่เมื่ออุปราคาได้สิ้นสุดลง อัตราการลดลงของความสว่างจะสามารถบ่งบอกถึงขนาดของดาวเคราะห์ได้ และคาบในการโคจรจะสามารถบ่งบอกถึงระยะห่างได้

Habitable Zone คืออะไร

- เรายังไม่ทราบว่า สิ่งมีชีวิตนอกโลกจะมีรูปร่างหน้าตาและอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างไร เนื่องจากเรายังไม่เคยพบมัน แต่จากสิ่งมีชีวิตที่เราพบได้บนโลก ในสภาพแวดล้อมต่างๆ กัน เราพบว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกต้องอาศัย "น้ำ" ในสภาพของของเหลว ดังนั้นหากเราต้องการพบสิ่งมีชีวิตนอกโลก สิ่งแรกที่เราอาจจะพยายามหาดูได้ ก็คือการค้นหาดาวเคราะห์ที่มีน้ำเป็นของเหลวอยู่บนพื้นผิว ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่ทราบองค์ประกอบของดาวที่เราพบ หรือทราบได้แน่ชัดว่าดาวดวงนั้นมีน้ำหรือไม่ แต่หากดาวเคราะห์ดวงนั้นอยู่ใกล้ดาวฤกษ์เกินไป น้ำก็จะระเหยเป็นไอไปหมด และหากอยู่ไกลเกินไป น้ำก็จะแข็งเป็นน้ำแข็งหมด เราเรียกบริเวณระยะห่างที่พอเหมาะเพียงพอที่จะพบน้ำที่เป็นของเหลวได้ ว่า Habitable Zone ซึ่งขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและขนาดของดาวฤกษ์

น้ำสำคัญอย่างไร? ทำไมเราต้องการหาน้ำที่เป็นของเหลวในการหาสิ่งมีชีวิต?
- สิ่งมีชีวิตที่พบบนโลกมีลักษณะที่แตกต่างกันได้มาก พืชและแบคทีเรียบางชนิดไม่ต้องการออกซิเจน ระบบนิเวศในมหาสมุทรบางแห่งไม่ต้องการแสงอาทิตย์ แบคทีเรียบางชนิดสามารถอยู่ในน้ำพุร้อนอุณหภูมิสูง ความเป็นกรดสูง หรือในบ่อน้ำที่เต็มไปด้วยโลหะหนักหรือสารมลภาวะ แต่สิ่งที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีก็คือ "น้ำ" น้ำมีคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตหลายประการ เช่น เป็นตัวทำละลายที่ดี ทำให้สามารถละลายสารอาหารที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตได้ มีความจุความร้อนจำเพราะสูง เหมาะแก่การรักษาระดับอุณหภูมิ เมื่อแข็งตัวแล้วความหนาแน่นจะลดลง ทำให้น้ำแข็งลอยขึ้นข้างบนและปกคลุมผิวน้ำก่อนที่สิ่งมีชีวิตทั้งหมดจะแข็งตาย นอกจากนี้ น้ำยังสามารถสร้างพันธะไฮโดรเจนซึ่งจำเป็นต่อกระบวนการหลายอย่างสำหรับสิ่งมีชีวิตบนโลก และน้ำยังสามารถหาได้ง่ายในเอกภพ เราเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตน่าจะต้องการตัวทำละลายเพื่อถ่ายเทสารอาหารและของเสีย และทุกวันนี้เรายังไม่พบตัวทำละลายใดที่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตไปได้ดีกว่าน้ำ

ก่อนหน้านี้เราเคยพบดาวเคราะห์นอกระบบมาก่อนหรือไม่
- เราได้ทำการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบมาแล้วกว่า 20 ปี อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบทำให้ดาวเคราะห์ส่วนมากที่เราค้นพบนั้น เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ และอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มาก แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้เราสามารถค้นพบดาวเคราะห์ที่มีขนาดเล็กลง และอยู่ห่างไกลจากดาวฤกษ์มากขึ้นเรื่อยๆ เราเคยมีการค้นพบดาวเคราะห์ที่อยู่ใน habitable zone มาก่อนแล้ว แต่เป็นเพียงดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ เป็นพวกดาวยักษ์ก๊าซที่ไม่มีพื้นแข็งที่สิ่งมีชีวิตจะยืนอยู่ได้ และเราเคยมีการค้นพบดาวเคราะห์แข็งมาก่อนแล้ว แต่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์จนเกินกว่าจะมีน้ำเป็นของเหลวได้

ปัจจุบันนี้ เราพบดาวเคราะห์นอกระบบแล้วกี่ดวง

- ถ้ารวม Kepler-452b ไปด้วย ปัจจุบันนี้เราพบดาวเคราะห์นอกระบบที่ยืนยันแล้ว 1,030 ดวง นอกจากนี้ยังมีดาวเคราะห์นอกระบบอีก 4,696 ดวงที่ยังรอการยืนยัน

เราจะไปเยือน Kepler-452b เมื่อไหร่
- ล่าสุดเราเพิ่งจะส่งยานสำรวจไปพลูโต ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเพียงจุดหนึ่งจุด เราอาจจะคิดว่าเราก็น่าจะสามารถส่งยานสำรวจไปดาวดวงนี้ได้เช่นกัน แต่หากเทียบระยะทางแล้ว ดาวพลูโตมีระยะห่างประมาณ 0.0005 ปีแสง (4.5 ชั่วโมงแสง) แต่ใช้เวลาตั้ง 9 ปีในการเดินทางสำหรับวัตถุที่ส่งออกจากโลกเร็วที่สุด หากเราจะไปเดินทางไป Kepler-452b ซึ่งระยะทาง 1,400 ปีแสง ด้วยความเร็วเท่าเดิม เราจะต้องใช้เวลาทั้งสิ้น... 25 ล้านปีเท่านั้นเอง สรุปว่า... ฝันไปเหอะ ชาติหน้าตอนบ่ายโมงห้าสิบ อาจจะได้ไปครับ

ดาวเคราะห์ Kepler-452b มีมนุษย์ต่างดาวหรือไม่
- เรายังไม่ทราบว่าดาวเคราะห์ Kepler-452b มีมนุษย์ต่างดาวหรือไม่ หรือว่ามีสภาพแวดล้อมที่สามารถดำรงชีวิตได้หรือไม่ และเรายังไม่ทราบองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้ แต่จากขนาดเราค่อนข้างมั่นใจว่าดาวเคราะห์ Kepler-452b จะเป็นดาวเคราะห์หิน ที่มีวงโคจรอยู่ใกล้เคียงกับวงโคจรของโลกของเรา โดยโคจรรอบดาวฤกษ์ G2 คล้ายดวงอาทิตย์ของเรา ทุกๆ 385 วัน ดาวฤกษ์ดวงนี้มีอายุ 6 พันล้านปีหรือมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 1.5 พันล้านปี จึงมีอุณหภูมิสูงกว่าเล็กน้อย

เราอาจจะไม่ทราบว่าดาวเคราะห์ Kepler-452b มีมนุษย์ต่างดาวหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ก็คือเรามีตัวอย่างที่ชัดเจนว่าดาวเคราะห์หินที่อยู่ที่ระยะห่างเท่านี้จากดาวฤกษ์ประเภท G2 สามารถมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์นี้อาจจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ (แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะไม่มี) และการที่เราสามารถค้นพบดาวเคราะห์แบบนี้ที่อื่นได้ ก็เป็นไปได้สูงว่ายังมีดาวเคราะห์อีกมาก ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโลกของเรา

ดังนั้นคำถามสำหรับศตวรรษนี้ อาจจะไม่ใช่ว่ามีชีวิตอื่นอยู่นอกระบบสุริยะของเราหรือไม่อีกต่อไป แต่ที่น่าจะถามมากกว่าก็คือ "เราจะเจอสิ่งมีชีวิตอื่นเมื่อไหร่?"

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl



ข่าวที่เกี่ยวข้อง