ส.ประมงพื้นบ้านฯ จัดเวทีถอดบทเรียน 2 ปีน้ำมันดิบรั่วไหลใกล้ชายฝั่งระยอง
วันนี้ (27 ก.ค.2558) ครบ 2 ปีเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลใกล้ชายฝั่งทะเลระยอง ซึ่งสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยองจัดเวทีถอดบทเรียน โดยเชิญนักวิชาการ ตัวแทนภาครัฐ เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ผู้ประกอบการร้านค้าและการท่องเที่ยวเข้าร่วมงาน
การจัดเวทีถอดบทเรียน 2 ปีน้ำมันดิบรั่วไหลในปี 2558 สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง ซึ่งเป็นผู้จัดงานได้ให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นคือ การเชิญภาคส่วนต่างๆ มาร่วมสะท้อนความจริง 2 ปีหลังเหตุน้ำมันรั่วและการร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นของภาคประชาชนในประเด็นแบ่งปันประสบการณ์การต่อสู้เพื่อชุมชน ซึ่งนอกจากถอดบทเรียนแล้วจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการดูแลทรัพยากรอีกด้วย
โดยสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง กล่าวว่า ที่ให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นนี้เพราะยังมีข้อเท็จจริงหลายเรื่องที่คลุมเครือ ส่วนผลกระทบแม้จะแทบไม่มีให้เห็นในเชิงกายภาพแล้ว แต่ในเชิงคุณภาพชีวิต ผู้คนหลายกลุ่มยังคงได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับการเยียวยาที่กลุ่มประมงพื้นบ้านอ้างว่า บริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษจ่ายค่าชดเชยให้พวกเขาเพียงครั้งเดียว รายละ 7,000 - 30,000 บาท ไม่สอดคล้องกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง ขณะที่การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้มีการติดตามและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ส่วนสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ทีมข่าวไทยพีบีเอสได้ลงพื้นที่สำรวจที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด เมื่อวานนี้ (26 ก.ค.2558) พบว่าหาดทราย หาดหินและน้ำทะเล หากมองด้วยสายตามีสภาพปกติ สอดคล้องกับความเห็นจากนักวิชาการด้านทรัพยากรประมงที่ระบุว่าธรรมชาติฟื้นตัวแล้ว เช่นเดียวกับทรัพยากรประมง แต่ยังต้องติดตามต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่ท่าเรือเทศบาลบ้านเพ นักท่องเที่ยวรอลงเรือเพื่อเดินทางไปเที่ยวเกาะเสม็ดจำนวนมาก เช่นเดียวกับบนเกาะเสม็ดที่มีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ
จากการแลกเปลี่ยนความเห็นในเวทีถอดบทเรียนครั้งนี้ เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าชาวประมงจะต้องแก้ไขและตั้งรับกับปัญหาด้วยตัวเองผ่านมาตรการ "ปิดอ่าวฟื้นฟูระบบนิเวศ" ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเชิงลึกร่วมกับนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาคำนวณความเหมาะสมของระยะเวลาหยุดทำประมง และหาอาชีพเสริม เพื่อสนับสหนุนรายได้ที่หายไป
นอกจากนี้ ชาวประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยองยังเตรียมเดินหน้าผลักดันการประกาศเขตควบคุมมลพิษให้ครอบคลุม หลังศึกษาพบว่าหลายพื้นที่ใน จ. ระยอง ถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว แต่ไม่ครอบคลุมพื้นที่ในทะเล ซึ่งต้องรองรับกิจกรรมต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมหลายประเภท ที่เสี่ยงสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่นเดียวกับการผลักดันแนวคิดพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ชาวประมงกลุ่มนี้เชื่อว่าจะเป็นกลไกปกป้องพื้นที่ในระยะยาว