ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นายกฯ กำชับทุกหน่วยเข้มปราบค้ามนุษย์ ตปท.ชี้สหรัฐฯใช้ทิป รีพอร์ต เพื่อผลการเมือง

การเมือง
29 ก.ค. 58
05:08
135
Logo Thai PBS
นายกฯ กำชับทุกหน่วยเข้มปราบค้ามนุษย์ ตปท.ชี้สหรัฐฯใช้ทิป รีพอร์ต เพื่อผลการเมือง

นายกรัฐมนตรีแนะคนไทยอย่ากังวลเรื่อง "เทียร์ 3" ยืนยันว่าทำดีที่สุดแล้ว พร้อมกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติทุกมิติ หลังจากสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ ทิป รีพอร์ต ปี 2558 ขณะที่เอ็นจีโอต่างประเทศวิจารณ์ว่า การจัดอันดับครั้งนี้น่าจะมีการเมืองเข้ามาแทรกแซง และเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของรายงานดังกล่าวด้วย

วันนี้ (29 ก.ค.2558) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศผลการจัดลำดับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี 2558 ซึ่งยังคงจัดลำดับให้ไทยอยู่ในระดับ เทียร์ 3 ว่า ไม่กังวลใจ และจะไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อการจัดลำดับในครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจังแล้ว พร้อมกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติทุกมิติ

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่อยากจะมองว่าการจัดอันดับครั้งนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งจากนี้คงเป็นเรื่องมนุษยธรรมไทยที่ต้องทำต่อไปเพื่อไม่ให้มีปัญหาการค้ามนุษย์ ส่วนที่มีการพูดถึงมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่มี มีแต่เพียงการงดการช่วยเหลือทางด้านวิชาการเรื่องเดียว แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้อาจจะมีอะไรโยงกันเล็กน้อยต่อกรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) เตรียมจะประเมินเรื่องการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู)

 
ด้าน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดทำหนังสือส่งไปยังกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯว่า รับทราบผลการจัดลำดับแล้ว โดยระบุด้วยว่า รายงานดังกล่าวไม่สะท้อนการทำงานของไทยที่ได้แก้ไขปัญหาไปหลายด้านและมีความคืบหน้าไปมากแล้ว
 
นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการค้ามนุษย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊คแสดงความเห็นกรณีสหรัฐจัดอันดับไทยในกลุ่มเทียร์ 3 ว่า รัฐบาลนี้พยายามแก้ปัญหามากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมาในทุกด้าน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานและคำนิยามของเทียร์ 2 ดังนั้น การจัดอันดับปีนี้ที่ให้ไทยอยู่ในบัญชีเทียร์ 3 จึงไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง แต่เป็นการตัดสินใจด้วยประเด็นทางการเมืองล้วนๆ
 
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่จะขอเข้าพบ ซึ่งคงจะมีการพูดคุยถึงรายงานค้ามนุษย์ ประจำปี 2558 ซึ่งไทยพยายามแก้ปัญหาทุกเรื่องอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นจุดอ่อนจากปีที่แล้ว แต่ตั้งข้อสังเกตว่าประเทศที่ขึ้นจากเทียร์ 3 อย่างเช่น มาเลเซีย คิวบา ล้วนเป็นประเทศที่เพิ่งรื้อฟื้นความสัมพันธไมตรีกับสหรัฐฯ
 
ด้านกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนต่างออกมาวิจารณ์ว่า สหรัฐฯใช้เหตุผลทางการเมืองในการปรับมาเลเซียและคิวบาขึ้นไปอยู่ในบัญชีเทียร์ 2 โดยนางซาราห์ มาร์กอน ผู้อำนวยการองค์กรฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า นี่ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่ ทิป รีพอร์ต ถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง ซึ่งเป็นพัฒนาการที่เลวร้าย และทำลายความน่าเชื่อถือของรายงานฉบับนี้
 
ขณะที่วุฒิสมาชิก โรเบิร์ต เมเนนเดซ ที่อยู่ในกลุ่มวุฒิสมาชิก 19 คนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 160 คน ทำหนังสือถึงนายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ เพื่อขอให้คงมาเลเซียไว้ที่ระดับเทียร์ 3 บอกล่าสุดว่า จะคัดค้านการปรับขึ้นมาเลเซียและคิวบาผ่านการซักถามในรัฐสภาการออกกฎหมายและการสอบสวน
 
อย่างไรก็ตาม นางซาราห์ ซีวอลล์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายความมั่นคงพลเรือน ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า มาเลเซียเสนอกฎหมายปราบปรามการค้ามนุษย์ และเพิ่มการสอบสวนการดำเนินคดีกับแก๊งค้ามนุษย์ ส่วนการพบหลุมศพที่เชื่อว่าอยู่ในค่ายกักกันของกระบวนการลอบขนผู้อพยพเข้าเมืองใกล้ชายแดนมาเลเซียและไทยที่เป็นเรื่องน่าวิตก เกิดขึ้นหลังเสร็จสิ้นการทบทวนรายงาน ทิป รีพอร์ต เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า ขณะนี้ องค์กรต่อต้านการค้ามนุษย์ตั้งข้อสงสัยรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ประจำปี 2558 โดยมองว่ามีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง มากกว่าการพยายามแก้ปัญหาไขปัญหาอย่างแท้จริง โดย เมลีย์ซา สเปร์เซอร์ ผู้อำนวยการสมาพันธ์ยุติทาสและการค้ามนุษย์ ระบุว่า รู้สึกแปลกใจต่อรายงานในปีนี้ เนื่องจากผลที่ออกมาทำให้กระทบต่อศักดิ์ศรี ความน่าเชื่อถือของรายงานการค้ามนุษย์ และความก้าวหน้าในการต่อต้านเพื่อยุติการค้ามนุษย์ในปัจจุบัน

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งถือเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปในการที่สหรัฐอเมริกา ปรับยกระดับคิวบาให้ออกจากกลุ่มบัญชี 3 มาอยู่ในกลุ่มบัญชี 2 ประเทศที่ต้องจับตามองหลังจากคิวบาอยู่ในกลุ่มบัญชี 3 มานาน 12 ปี เนื่องจากสหรัฐอเมริกาและคิวบากลับมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครั้งใหม่ต่อกันในเวลา 54 ปี ทั้งๆ ที่คิวบายังมีปัญหาโสเภณีเด็ก มีการบังคับใช้แรงงานโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ” ผอ.สมาพันธ์ยุติทาสและการค้ามนุษย์ กล่าว

สเปร์เซอร์กล่าวด้วยว่า ส่วนการยกระดับมาเลเซียมาอยู่ในบัญชี 2 หรือประเทศที่ต้องจับตามอง จากเดิมที่อยู่ในบัญชี 3 ก็เกี่ยวข้องกับการปูทางเจรจาการค้าความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ที่ผู้นำสหรัฐฯ ต้องเร่งบรรลุข้อตกลงนี้ให้ได้ภายในสัปดาห์นี้ โดยหากไม่ยกระดับของมาเลเซียออกมาจากกลุ่มบัญชี 3 จะส่งผลกระทบต่อการบรรลุข้อตกลงทีพีพีโดยตรง เนื่องจากถือเป็นข้อห้ามที่สหรัฐฯ ไม่ทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์

ไอแดน แมคเควด ผู้อำนวยการต่อต้านการค้าทาสนานาชาติ เผยว่า รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งต่อรายงานฉบับนี้ เนื่องจากมาเลเซีย การตาร์ และอุซเบกีสถาน ไม่ได้มีความก้าวหน้าในการป้องกันหรือปราบปรามการบังคับใช้แรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาเลเซียมีปัญหาผู้อพยพโรฮิงญา ปัญหาการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคส์ ที่ป้อนชิ้นส่วนให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น ซัมซุง โซนี และแอปเปิล รวมทั้งยังมีปัญหาการบังคับใช้แรงงานและค้าแรงงานในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

ด้าน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า แม้การคงสถานะเทียร์ 3 ของไทยจะไม่กระทบการส่งออก แต่อาจมีผลต่อการทบทวนสถานะใบเหลืองของประเทศที่มีปัญหาจัดการทรัพยากรประมง (ไอยูยู ฟิชชิ่ง) จากกลุ่มอียูในเดือน ต.ค. 2558 ซึ่งต้องจับตาว่าอียูจะใช้รายงานฉบับนี้คว่ำบาตรการค้าสินค้าประมงจากไทยหรือไม่

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง