ลดการล่า-มีผืนป่าใหญ่-เหยื่อเพียงพอ ทำให้เสือโคร่งมีชีวิตยืนยาว
นายศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เปิดเผยไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า สถานการณ์ของเสือโคร่งในหลายพื้นที่ทั่วโลกลดลง มนุษย์เป็นสาเหตุหลักที่ลดจำนวนประชากรเสือโคร่ง ส่วนสถานการณ์เสือโคร่งในประเทศไทยขณะนี้ ยังมีจำนวนมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ที่มีประชากรเสือโคร่งมากที่สุดในประเทศไทยคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี โดยมีเสือโคร่งประมาณ 60-70 ตัว ขณะที่ป่าตะวันตกที่เป็นกลุ่มป่าขนาดใหญ่ มีเสือโคร่งอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและเพิ่มมากขึ้น จึงถือเป็นสัญญาณที่ดี
“ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามดูแลโดยจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์ รวมถึงมาตรการป้องกันต่างๆ แต่การที่จะรักษาเสือโคร่งนั้น ปัจจัยสำคัญคือการมีพื้นที่ป่าขนาดใหญ่และมีเหยื่อเพียงพอ การรักษาระบบนิเวศน์ให้มีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงการควบคุมการล่าเสือโคร่ง ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้เป็นเรื่องของการอนุรักษ์และการป้องกันในพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีเจ้าของและมนุษย์ได้นำพื้นที่เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ รวมไปถึงการบุกรุกทำลายป่าด้วย” นายศักดิ์สิทธิ์กล่าว
ขณะที่วันนี้ (29 ก.ค.2558) WWF-ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ ได้จัดนิทรรศการ "Thais For Tigers คนไทยไว้ลายเสือ" เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลจากประชาชนหลายภาคส่วนถึงมุมมองที่มีต่อเสือโคร่ง
ทั้งนี้ ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีประชากรเสือโคร่งเหลืออยู่เพียง 3,200 ตัว ในทั้งหมด 13 ประเทศ จากเดิมที่เคยมีอยู่ 100,000 ตัว และสำหรับประเทศไทยมีเสือโคร่งเหลืออยู่ประมาณไม่เกิน 250 ตัว