ธ.ทหารไทย วิเคราะห์ยุคดอกเบี้ยขาลงกำลังจะกลับมา
ขณะนี้การคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มทรงตัวที่ร้อยละ 3.5 ยาวไปถึงปลายปีหน้า แต่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในไทยจะกลับทิศเป็นขาลงตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2555 เนื่องจากสองปัจจัยหลัก ได้แก่ วิกฤติน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ความเสียหายนั้นถูกประเมินไว้สูงกว่า 100,000 ล้านบาท (ประมาณร้อยละ 1 ของ Nominal GDP) โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อภาคการส่งออก อย่างนิคมอุตสาหกรรมใหญ่หลายแห่ง ที่ผลิตสินค้าที่มีบทบาทสำคัญต่อการส่งออก อย่างเช่น อิเล็คทรอนิคส์ และ รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ รวมกันเป็นสัดส่วนถึงหนึ่งในสามของมูลค่าการส่งออกไทย
ประเมินว่าปัญหาน้ำท่วมจะส่งผลให้ GDP ก็จะถูกกระทบทันทีในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และไตรมาสแรกของปีหน้า จากการประมาณการณ์ของ TMB Analytics เดิมคาดว่าในไตรมาสสี่ปีนี้ GDP จะเติบโตได้ร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ก็จะเหลือเพียงร้อยละ 0.7 ส่วนไตรมาสหนึ่งปี 2555 จะเติบโตเพียงร้อยละ 1 จากฐานเดิมที่ร้อยละ 4
ส่วนปัจจัยที่สองมาจากปัญหาวิกฤติการคลังในยุโรป ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB คาดว่าเศรษฐกิจยุโรปจะกลับมาหดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และจะถดถอยต่อเนื่องในปีหน้า ซึ่งจะส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้การส่งออกไทยในปีหน้าชะลอตัวอย่างชัดเจน ซึ่งประเมินว่าการส่งออกปีหน้าอาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 8 เมื่อเทียบปีนี้ที่น่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 20
การชะลอตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจไทย จะถูกสะท้อนบน OUTPUT GAP หรือส่วนต่างระหว่างผลผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับผลผลิตตามศักยภาพ ที่จะกลับมาติดลบในช่วงต้นปีหน้า และจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงโดยปริยาย แม้ในระยะสั้นๆนี้ เงินเฟ้อจะสูงขึ้นก็ตาม แต่การสูงขึ้นของเงินเฟ้อในลักษณะนี้เป็นแบบ Cost-Push เพราะต้นทุนที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการสูงขึ้นจากการเกิดภาวะน้ำท่วม เมื่อเหตุการณ์เฉพาะหน้านี้ผ่านไป เงินเฟ้อจะลดลงจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงนั่นเอง ดังนั้น เมื่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลง อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็มีความโน้มเอียงที่จะปรับลงตามไปด้วย ตามการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นของธปท.
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะทรงตัวที่ร้อยละ 3.5 จนถึงสิ้นปีนี้ จะเริ่มลดลงตั้งแต่ไตรมาสแรกปีหน้า สู่ร้อยละ 3.25 และ เป็นร้อยละ 3.0 และ 2.75 ในไตรมาสสองและสาม ตามลำดับ และ หยุดอยู่ที่ร้อยละ 2.75 ไปจนถึงสิ้นปี 2555
ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะช่วยปรับให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง (Government Bond Yield Curve) กลับเข้าสู่ภาวะปกติ กล่าวคือ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะที่สั้นกว่าควรจะต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะที่ยาวกว่า จากที่ Yield Curve ตั้งแต่ช่วงประมาณสิงหาคมเป็นต้นมา Yield ของพันธบัตรระยะกลาง 2-7 ปี กลับต่ำกว่าผลตอบแทนระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ซึ่งเมื่อตลาดเงินเกิดมี Yield Curve ในลักษณะดังกล่าวนี้ จะทำส่งผ่านนโยบายการเงินไม่มีประสิทธิภาพ