ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แนะรัฐเลิกโครงการประชานิยม หวั่นกระทบหนี้สาธารณะ

19 ต.ค. 54
15:20
17
Logo Thai PBS
แนะรัฐเลิกโครงการประชานิยม หวั่นกระทบหนี้สาธารณะ

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเมืองประเมินความเสียหายเบื้องต้นจากวิกฤตน้ำท่วมว่า อาจมากกว่า 100,000 ล้านบาท กระทบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปี พร้อมเรียกร้องรัฐบาลทบทวนหรือยกเลิกโครงการประชานิยม ก่อนส่งผลร้ายต่อฐานะการคลังและหนี้สาธารณะ

<"">
  
<"">

ความเสียหายในพื้นที่เกษตรและอุปสรรคจากการขนส่ง ทำให้ราคาสินค้าหลายรายการเพิ่มสูงขึ้น สร้างความเดือดร้อนต่อผู้มีรายได้น้อย อย่างลูกจ้างรายวันผู้หนึ่งซึ่งระบุว่า ตนเองและสามีมีรายได้รวมกันเพียงวันละ 400 บาท แต่ต้องเลี้ยงดูลูกๆ และญาติพี่น้องที่อาศัยรวมกัน 5 คน ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ต่างจากใคร แต่ยอมรับได้ หากรัฐบาลจะชะลอนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท

 
สอดคล้องความเห็นจาก รศ.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเมือง กล่าวว่า หากรัฐบาลชะลอโครงการประชานิยมจะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานคะแนนเสียง เนื่องจากประชาชนยังคงให้การสนับสนุนและมีความสัมพันธ์อันดีกับพรรครัฐบาล
 
ทั้งนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤตถึง 3 ชั้น ทั้งเศรษฐกิจโลก ภัยธรรมชาติ และความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างประเทศ รัฐบาลจึงควรบริหารงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากงบประมาณประจำปี 2555 ซึ่งรัฐบาลขยายกรอบการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาทนั้นเบิกจ่ายได้เร็วที่สุดคือกลางเดือน ก.พ.56 รัฐบาลจึงควรทบทวนหรือยกเลิกโครงการประชานิยมที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น รับจำนำข้าว บ้านหลักแรก และรถยนต์คันแรก เพราะไม่เพียงสร้างภาระงบประมาณ แต่อาจส่งผลร้ายต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน และประชาชนบางส่วนต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินเช่นที่เคยเกิดขึ้นในสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540
 
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเมืองวิเคราะห์ต่อไปว่า การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล 400,000 ล้านบาทอาจเป็นกรอบขาดดุลงบประมาณซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับการปรับลดงบประมาณรายจ่ายลงอีก 120,000 ล้านบาทก็อาจไม่เพียงพอต่อการบริหารประเทศ ภายใต้ความเสียหายจากวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจมากกว่า 100,000-200,000 ล้านบาท
 
สอดคล้องบทสัมภาษณ์ของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ยอมรับว่า รัฐบาลจำเป็นต้องออกพระราชกำหนดกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศจำนวน 500,000 ล้านบาท หรือกล่าวได้ว่า รัฐบาลอาจมีภาระจากการจ่ายดอกเบี้ยให้กับสถาบันการเงินเหล่านั้นไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะอาจขยับจากร้อยละ 45 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 หากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อันเกิดจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง