ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แมงกะพรุนกล่อง "พิษร้ายแรงที่สุด" แนะติดตาข่ายป้องกันที่แหล่งท่องเที่ยว

สังคม
3 ส.ค. 58
17:17
334
Logo Thai PBS
แมงกะพรุนกล่อง "พิษร้ายแรงที่สุด" แนะติดตาข่ายป้องกันที่แหล่งท่องเที่ยว

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเสียชีวิตจากการสัมผัสแมงกะพรุนกล่องที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลระบุว่าแมงกะพรุนชนิดนี้มีพิษร้ายแรงที่สุดในบรรดาแมงกะพรุนทั้งหมด และยังไม่มียารักษา แนะนำให้ติดตั้งตาข่ายป้องกันแมงกะพรุนบริเวณชายหาดแหล่งท่องเที่ยว ทั้งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน

นพ.สาฬวุฒิ เหราบัตย์ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ระบุว่า แมงกะพรุนกล่องมีพิษร้ายแรงที่สุดในบรรดาแมงกะพรุนทั้งหมด มีเข็มพิษนับล้านเซลล์ พิษรุนแรงต่อระบบผิวหนัง ระบบเลือด หัวใจและระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้ ปวดหัว กระสับกระส่าย แน่นหน้าอก พิษจะกระจายภายใน 30 นาที อาการจะแตกต่างกันไปจากการสัมผัสมากน้อย

"ผู้ที่ถูกพิษแมงกะพรุนกล่องจะเจ็บปวดเหมือนถูกหมดนับร้อยตัวกัดพร้อมกัน จากนั้นจะตามมาด้วยอาการปวดแสบปวดร้อน ถ้าโดนชนิดที่รุนแรงหรือแพ้ ก็จะมีอาการรุนแรงมากขึ้น" นพ.สาฬวุฒิกล่าว
 
แมงกะพรุนกล่องมีลักษณะหัวใหญ่เท่ากำปั้น คล้ายกล่องสี่เหลี่ยมใส จนมองเกือบไม่เห็นตัว มีหนวดทั้งแบบสายเดี่ยวและสายเป็นกลุ่ม ยืดได้ 2-3 เมตร ว่ายน้ำเร็ว นักวิชาการสิ่งแวดล้อมทางทะเลกล่าวว่า จะสังเกตเห็นยาก มักพบได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ช่วงเดือนมิถุนยาน- ตุลาคม บริเวณตามเขตชายฝั่งอย่างเกาะสมุย เกาะพงัน ทะเลอ่าวไทย และทะเลอันดามัน

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลระบุว่าช่วงที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตนับสิบราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บเกือบพันคน จากการสัมผัสแมงกะพรุนกล่อง จนถึงขณะนี้ยังไม่มียารักษาหรือป้องกัน ต้องรักษาตามอาการเท่านั้น จึงแนะนำ นักท่องเที่ยว ไม่ควรลงเล่นน้ำขุ่น หรือหากเล่นควรสวมชุดมิดชิด เจ้าหน้าที่ชายฝั่งควรพกน้ำส้มชายชู ควรติดตั้งป้ายวิธีการปฐมพยาบาลและตาข่ายป้องกันแมงกะพรุน บริเวณชายหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เหมือนกับประเทศออสเตรเลีย

"เมื่อก่อนนี้เรามีการศึกษาเกี่ยวกับแมงกะพรุนกล่องค่อนข้างน้อย แต่ปัจจุบันมีข้อมูลมากขึ้นแล้วและพบว่ามีการกระจายในทุกจังหวัด ประเทศที่พบได้แก่ ออสเตรเลีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไม่พบในยุโรปหรืออเมริกา  มีการศึกษาในออสเตรเลียพบว่ามีจำนวนแมงกะพรุนกล่องมากขึ้น อาจเป็นเพราะภาวะโลกร้อน สำหรับเมืองไทยก็มีเพิ่มขึ้น อาจมีสาเหตุจากโรคร้อนเช่นกัน" ผศ.ธรณ์ระบุ
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง