สัมภาษณ์
"ทั้งหมดที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยเป็นตัวจริงทั้งสิ้น และมีตัวแทนจากกลุ่มสำคัญๆ ครบทุกกลุ่ม ดังนั้นที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์กันว่าการเจรจาล้มเหลวเพราะไม่ได้คุยกับตัวจริงหรือตัวแทนที่แท้จริงของฝ่ายผู้เห็นต่างจึงไม่เป็นความจริง และคนที่ก่อตั้ง Mara Patani ซึ่งเป็นองค์กรร่มของฝ่ายผู้เห็นต่างในการพูดคุย ก็คือตัวแทนจากบีอาร์เอ็น" พล.อ.อักษรากล่าว
พล.อ.อักษรากล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากได้พูดคุยกับตัวแทนที่แท้จริงของฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐแล้ว ความสำเร็จอีกประการหนึ่งคือ ฝ่ายผู้เห็นต่างเองก็มีความเห็นตรงกันกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยว่า กระบวนการพูดคุยคือทางออกและแนวทางแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเรื่องนี้พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็เห็นด้วยและให้การสนับสนุนให้เดินหน้ากระบวนการพูดคุย
"นายกรัฐมนตรีไม่ได้คัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยกับ Mara Patani เลย คือ เขาจะชื่ออะไรเราก็ไม่ติดใจ ผมสนใจวิธีการมากกว่า เมื่อฝ่ายเขาคือผู้เห็นต่างเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี ผมก็คิดว่าประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนคำถามที่ว่าแล้วทำไมจึงยังมีเหตุรุนแรงในพื้นที่ ประเด็นนี้ผมคงต้องชี้แจงว่าทุกฝ่ายต่างก็มีทั้งสายเหยี่ยว (นิยมความรุนแรง) และสายพิราบ (นิยมสันติวิธี) ซึ่งแม่ทัพภาคที่สี่ซึ่งดูแลพื้นที่ก็ต้องเดินหน้าทำความเข้าใจกับเซลล์เล็กๆ (กลุ่มติดอาวุธในพื้นที่) เพื่อให้กลุ่มเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการพูดคุยควบคู่ไปกับโครงการพาคนกลับบ้าน เปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างได้กลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัวที่บ้าน" พล.อ.อักษราระบุ
หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขกล่าวถึง ตัวชี้วัดความสำเร็จของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกประการหนึ่ง คือ จำนวนเหตุรุนแรงและการสูญเสียในช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้ ซึ่งมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับเดือนรอมฎอนปี 2557 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐเองก็เห็นด้วยกับสันติวิธีในช่วงรอมฎอน ซึ่งประเด็นนี้ทั้งสองฝ่ายได้มีการพูดคุยกันก่อนรอมฎอนว่าน่าจะร่วมกันสร้างสันติ แต่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีการทำข้อตกลงหยุดยิงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงวันท้ายๆ ของเดือนรอมฎอน พล.อ.อักษราบอกว่า น่าจะเป็นฝีมือของ "พวกผสมโรง"
พล.อ.อักษรากล่าวย้ำว่า การที่ความรุนแรงในพื้นที่ลดลงก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับท่าทีของอาบูฮาฟิซ อัลฮากิม แกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐไทย ที่ให้สัมภาษณ์กับเว็ปไซต์ประชาไทก่อนหน้านี้ว่า ขณะนี้กลุ่มผู้เห็นต่างยังไม่ได้ยื่นข้อเสนอใดๆ ต่อตัวแทนรัฐบาลไทยทั้งสิ้น เนื่องจากตอนนี้กระบวนการพูดคุยยังอยู่ในช่วงการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน
สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังจากทั้งสองฝ่ายเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันแล้ว พล.อ.อักษราบอกว่าจะเข้าสู่ขั้นที่สองของกระบวนการพูดคุย คือ การลงนามในข้อตกลงเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและสร้างสันติสุขในพื้นที่ซึ่งเขาเสนอว่าน่าจะครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก คือ
1.การพัฒนาในพื้นที่ จชต.
2.การสร้างพื้นที่ปลอดภัย
3.กระบวนการยุติธรรม ซึ่งรวมไปถึงกระบวนการเยียวยาด้วย
ซึ่งกระบวนการนี้ ทั้งสองฝ่ายต้องมีตัวแทนทำงานร่วมกันในสำนักงานเลขาธิการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข เพื่อจัดทำรายละเอียดแผนการสร้างสันติสุข ก่อนที่จะเข้าสู่การลงนามในสัตยาบันต่อไป
"งานของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขขณะนี้ก็คือ การพูดคุยกับตัวแทนองค์กรของฝ่ายผู้เห็นจากรัฐไทยที่สำคัญๆ ทั้งหมด เพื่อพูดคุยให้ร่วมกันหาทางแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ซึ่งก็เปรียบเสมือนการปิดวาวล์ตัวใหญ่ ส่วนในพื้นที่แม่ทัพภาคที่สี่ก็ไล่ปิดวาวล์ตัวเล็กๆ" พล.อ.อักษรากล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2558 สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในงานวิจัยชื่อ "การสำรวจแนวโน้มทัศนคติของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ, ความยุติธรรม, ปัญหาสังคม และการสร้างสันติภาพ" โดยทำการสุ่มตัวอย่างประชากรจำนวน 2,104 ตัวอย่าง จากพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา พบว่า กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 76.9 พึงพอใจและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพ หรือกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ ดำนินการอยู่ในขณะนี้