นักวิชาการห่วงบังคับใช้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังไม่เข้าใจ
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2558 เป็นการแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดยเนื้อหามีความทันสมัยมากขึ้น และมีสาระสำคัญเพิ่มเติม 8 ประเด็น เช่น การคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ์, ยกเว้นการทำซ้ำชั่วคราว, การขายงานลิขสิทธิ์มือสอง, เพิ่มบัญญัติค่าเสียหายให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้น ไม่เกิน 2 เท่าของมูลค่าความเสียหาย โดยกฎหมายใหม่นี้มีการกำหนดโทษไว้ชัดเจนเพื่อคุ้มครองผลงานลิขสิทธิ์
มาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นการคุ้มของเจ้าของที่มีความคิดสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ เช่น บทความ ภาพวาด ภาพยนต์ ละคร เป็นต้น ที่เป็นงานลิขสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้มีสิทธิ์ที่จะเอาไปคัดลอก ดัดแปลงและเผยแพร่ต่อสาธารณชน จะต้องเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ดำเนินการ
แต่การนำผลงานไปใช้มีข้อยกเว้นบางกรณี เช่น การวิจัยหรือการศึกษา, การเสนอข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงโดยให้เครดิตเจ้าของสิทธิ์ และต้องอ้างอิงที่มา หรือให้เครดิตเสมอ ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์
ส่วนกรณีรายการเล่าข่าวสามารถทำได้ แต่ต้องให้เครดิตกับเจ้าของสิทธิ์ด้วย, การดาวน์โหลดภาพยนต์หรือเพลงที่อนุญาตให้ดาวน์โหลดฟรีสามารถทำได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้, กรณีที่ซื้อซีดีเพลง หนังสือ รูปภาพ เมื่อใช้แล้วนำไปขายต่อได้ แต่ผู้ซื้อไม่สามารถทำสำเนาเพื่อนำงานออกขายได้
สำหรับบทลงโทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท, เพื่อการค้า 100,000 - 800,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนโทษฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ์และมาตรการทางเทคโนโลยี ปรับ 10,000 - 100,000 บาท, เพื่อการค้าปรับ 50,000 - 400,000 บาท หรือจำคุก 3 เดือนถึง 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านนายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้กฎหมายฉบับนี้จะออกมาเพื่อคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงาน แต่เป็นห่วงการบังคับใช้ในช่วงแรก เพราะผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ไม่เข้าใจและขาดการประชาสัมพันธ์จากภาครัฐและสื่อมวลชน