มาตรา 44 กับการแก้ปัญหาหวยแพง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศนโยบายเร่งด่วนคือการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาฉบับละ 80 บาท โดยที่ผ่านมาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ระบุอีกครั้งว่าเตรียมใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ควบคุมราคาเพื่อให้เกิดความรวดเร็วระหว่างรอกฏหมายสลากกินแบ่งรัฐบาล
ขณะที่นายธนากร คมกฤส ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก มองว่าการใช้มาตรา 44 อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลราคาแพงที่ตรงจุด เพราะโจทย์ใหญ่ของปัญหาอยู่ที่ระบบการค้าที่ไม่เป็นธรรมทั้งต่อผู้บริโภค และผู้ค้ารายย่อย ซึ่งเห็นว่าควรใช้อำนาจพิเศษมาจัดตั้งกองทุนรับซื้อคืนสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยมีคณะทำงานพิเศษซึ่งมีนายกรัฐมนตรี หรือ ตัวแทนคสช. เป็นประธาน
ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก ยังเชื่อว่าหากใช้มาตรา 44 กับการเลือกประธานคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (บอร์ดกองสลาก) เพื่อให้สามารถเลือกคนนอกเข้ามานั่งเป็นประธานบอร์ด จะทำให้การทำงานคล่องตัวและแก้ปัญหาต่างๆ ของสลากกินแบ่งรัฐบาลทำให้เกิดความเป็นธรรมในการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลทั้งระบบ
ด้าน รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลราคาแพง เพราะการใช้อำนาจไม่สามารถแก้ปัญหาระดับโครงสร้างที่เป็นปัญหาสะสมมานานกว่า 20 ปี ได้ทั้งหมด
รศ.นวลน้อย ยังเสนอว่ามาตรา 44 ที่รัฐบาลนำมาใช้น่าจะเป็นเรื่องการจัดสรรโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลสู่ผู้ค้ารายย่อยตัวจริง และต้องมีแนวทางดูแลไม่ให้สลากกินแบ่งรัฐบาลกลับมารวมชุดที่กรุงเทพฯ รวมทั้งการรับซื้อคืนที่ต้องกำหนดให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้รัฐบาลจะเสียผลประโยชน์
ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังรอความชัดเจนถึงแนวคิดที่นายกรัฐมนตรีจะใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลราคาแพง ว่ารายละเอียดจะออกมาในลักษณะอย่างไร และสามารถรื้อระบบโครงสร้างปัญหาที่ผ่านมาได้หรือไม่ แต่การแก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคานั้นเกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายและมีผลประโยชน์จำนวนมาก สะท้อนจากยอดขายที่สูงถึง 80,000 ล้านบาทต่อปี การพิจารณาจึงต้องใช้ความรอบคอบ