การจัดวางภายในที่ใช้เทคนิคสื่อผสมหลายอย่าง แต่ยังคงเอกลักษณ์ของวัดในล้านนาโดยเฉพาะสัตภัณฑ์หรือเชิงเทียนที่ตั้งอยู่ภายในวิหารพระเจ้าหมื่นองค์ วัดมุงเมือง จ.เชียงราย เป็นผลงานดุษฎีนิพนธ์ของ "ดอยธิเบศร์ ดัชนี" ที่ค้นคว้าสร้างงานภายใต้หัวข้อ"ไตรภูมิล้านนา" ซึ่งเขาต้องศึกษาไตรภูมิจากสถาปัตยกรรมในหลายยุค ทั้งอยุธยา ธนบุรีและล้านนา แล้วปรับประยุกต์สร้างเป็นโมเดล นำเสนอทั้งแนวคิดและทฤษฎีทางงานศิลปะในแบบของตนเอง โดยว่าที่ดุษฎีบัณฑิตจะต้องทำให้ได้
ขณะที่อาจารย์ที่ปรึกษา มองเห็นปัญหาที่ต้องแก้ไข อย่างสเกลหรือขนาดในการออกแบบจริง ระยะเวลาในการสร้างที่อาจต้องใช่เวลานานถึง 3 ปี และงบประมาณจำนวนในการซืื้อไม้สักเพื่อสร้างวิหารไม้ที่คงทนและสวยงาม
การเปิดโอกาสให้นำเสนอผลงานโดยมีทั้งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและรุ่นพี่รุ่นน้องได้ร่วมวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาฝีมือ เหมือนกับผลงาน "เวลาแห่งความสุขสงบ" ซึ่งเป็นภาพพิมพ์หินขนาด 2 เมตร ที่ศิลปินต้องค่อยๆ วาดภาพไล่โทนสีถึง 4 แม่พิมพ์ จนกลายเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์ในภาคใต้ นอกจากต้องจัดแสงในห้องจัดแสดงให้มืดลงเพื่อดึงความฟุ้งกระจายนุ่มนวลของเทคนิคประเภทนี้ออกมาแล้ว
สำหรับนักศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาทัศนศิลป์รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร มีจำนวน 13 คน โดยจะใช้เวลาศึกษาทั้งหมด 3 ปี ซึ่งศิลปินเหล่านี้ไม่เพียงสร้างผลงานเพื่อแสดงทัศนะ หรือสื่อสารกับสังคม แต่หน้าที่สำคัญหลังสำเร็จการศึกษา คือการทำให้ผู้ชมเกิดปัญญาจากงานศิลป์ที่จะช่วยสร้างรากฐานมั่นคงด้านศิลปะให้กับสังคมไทยได้ ทั้งนี้ จะมีการจัดแสดงผลงานไปจนถึงวันที่ 28 เม.ย. ที่ PSG art gallery มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ