“กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก”ค้านตั้งมหาวิทยาลัย ชี้ที่สาธารณะเหมาะรับน้ำ-สร้างรายได้ชุมชน
วันนี้ (8 ส.ค.2558) นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยถึงกรณีที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เสนอโครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยในพื้นที่สาธารณะคลองชายธง ต.บ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 931 ไร่ ว่า ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ทราบเรื่องมาก่อน พร้อมระบุไม่ได้คัดค้านโครงการ แต่เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นพื้นที่นิเวศชายฝั่งที่สำคัญ อีกทั้งไม่เห็นด้วยกับการยื่นขอถอนสภาพหนังสือสำคัญที่หลวง เพราะประชาชนยังคงใช้ประโยชน์พื้นที่ ส่วนการสำรวจความคิดเห็นนั้น ทางจังหวัดใช้วิธีสอบถามจากคนส่วนใหญ่ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่ไม่ได้ถามความคิดเห็นของคนในพื้นที่ ซึ่งคณะกรรมการได้ชี้แจงว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่เสื่อมโทรม และมีการออกแบบมหาวิทยาลัยไว้แล้ว โดยใช้พื้นที่กึ่งกลาง 627 ไร่
“จู่ๆ จะตั้งมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้ถามความคิดเห็นของชาวบ้าน แล้วจะเข้าใจปัญหาและสภาพของพื้นที่หรือไม่ ไปคิดกันอยู่ในห้องประชุม แล้วเสนอ ครม.” นางกรณ์อุมากล่าว
นางกรณ์อุมากล่าวว่า การก่อสร้างมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ติดทะเล เพราะแหล่งทรัพยากรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา รวมถึงการท่องเที่ยวจะถูกทำลายไปด้วย พร้อมเสนอให้เปลี่ยนโจทย์มาเป็นการพัฒนาพื้นที่รองรับน้ำธรรมชาติ แก้วิกฤตภัยแล้งและอุทกภัย
ทั้งนี้ภายหลังดำเนินการกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นที่บุกรุกพื้นที่ทำนากุ้งสำเร็จ ในปี 2555 ชาวบ้านบ่อนอก ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงการฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะคลองชายธงแบบครบวงจร รวมทั้งร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำโครงการสำรวจและออกแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ ได้แก่ การฟื้นฟูแหล่งน้ำ 1 ใน 3 ของพื้นที่ บรรเทาปัญหาอุทกภัย รวมถึงเป็นแหล่งเก็บน้ำจืดขนาดใหญ่ เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค พัฒนาและขยายพื้นที่ป่าชายเลน และพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ โดยปี 2557 เจ้าหน้าที่ได้ลงสำรวจพื้นที่และมีผลสรุปว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถพัฒนาแหล่งน้ำได้
ด้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อ้างว่า พื้นที่เหมาะสมกับการก่อสร้างมหาวิทยาลัย เพราะเป็นที่ดินสาธารณะขนาดใหญ่ อยู่ใจกลางจังหวัด และสะดวกต่อการเดินทาง ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำ จัดเวทีรับฟังความเห็นการพัฒนาพื้นที่สาธารณะคลองชายธง เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยชาวบ้านเสนอแนวทางการจัดโซนนิ่งพื้นที่ คือ การพัฒนาแก้มลิงขนาดใหญ่ ฟื้นฟูป่าชายหาดและป่าชายเลน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะนำข้อเสนอไปศึกษาข้อมูล ก่อนลงพื้นที่อีกครั้ง
ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ทำหนังสือแจ้งทางจังหวัด เพื่อขอให้นักวิชาการจากหน่วยงานอิสระเข้าศึกษาข้อมูลและให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งทางจังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด ตรวจสอบข้อเท็จจริงและความเป็นไปได้ของแนวทางพัฒนาพื้นที่ ตามที่ชาวบ้านเสนอ โดยจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 4 ส.ค. 2558
กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl