ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กสม.เผยประชาชนถูกละเมิดสิทธิด้านชุมชน-ฐานทรัพยากร 800 คดีความ ตลอด 6 ปี (2552-2558)

สังคม
12 ส.ค. 58
12:47
3,194
Logo Thai PBS
กสม.เผยประชาชนถูกละเมิดสิทธิด้านชุมชน-ฐานทรัพยากร 800 คดีความ ตลอด 6 ปี (2552-2558)

อนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน กสม. จัดทำรายงานสรุปสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษย์ด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรตลอด 6 ปีที่ผ่านมา (2552-2558) พบประชาชนทั่วประเทศถูกละเมิดกว่า 800 คำร้อง พร้อมแนะ 3 ทางออก เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อไกล่เกลี่ยปัญหา ก่อนส่งต่อให้ประธาน คสช.พิจารณา

วันนี้ (12 ส.ค. 2558) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน และประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า เผยว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทำรายงานสรุปสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในระยะ 6 ปีที่ผ่านมา (มิ.ย. 2552 – ก.ค. 2558) ลงวันที่ 12 ส.ค. 2558 พบว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนทั่วประเทศเกือบ 800 คำร้อง ถึงการถูกละเมิดสิทธิในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ครอบคลุมทุกประเภทฐานทรัพยากร อาทิ ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล ทรัพยากรแร่ ดิน และหิน ทรัพยากรที่ดิน ทรัพยากรที่ดิน ทรัพยากรป่าไม้ และทรัพยากรพลังงาน

นพ.นิรันดร์กล่าวเพิ่มว่า คณะอนุกรรมการฯ จึงขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนและชุมชน ดังนี้

1.ให้ระงับหรือยุติการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อม และสิทธิชุมชน เช่น กรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กรณีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกทั้งที่ปากบารา จ.สตูล และ จ.สงขลา กรณีการดำเนินการตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณพื้นที่ชายแดน กรณีการจัดผังเมืองในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี ซึ่งหากยืนยันดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจกรรมต่อไป ควรเริ่มต้นกระบวนการใหม่โดยต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาและตัดสินใจอย่างแท้จริง

2.ให้ชดเชย เยียวยา และฟื้นฟู ในกรณีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน เช่น ผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล กรณีผลกระทบจากโครงการสำรวจปิโตรเลียมในหลายพื้นที่ภาคอีสาน และกรณีผลกระทบมลพิษจากการโรงงานอุตสาหกรรม

และ 3. กรณีผลกระทบจากการปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64/2557 มีความเห็นว่าควรยุติการดำเนินนโยบายยึดคืนผืนป่า รวมทั้งที่ดินของรัฐประเภทอื่นๆ ยุติการตัดฟันต้นยางพารา และยุติหรือชะลอการดำเนินคดี ในกรณีพบว่าผู้ถูกดำเนินคดีเป็นประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และไร้ที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยมาแต่เดิม ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 66/2557 นอกจากนี้ ควรทบทวนแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแผน

“กสม. จะนำรายงานสรุปสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร รวมถึงข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย กสม.จะติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุ
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง