ครึ่งปีหลัง “ตลาดหุ้น” ไม่มีสัญญาณฟื้นตัวเร็ว ชี้ศก.ไม่วิกฤตเหมือนปี 40 แต่โต 3% ยังยาก
หุ้นไทย 7 เดือนแรกปี 58 ต่างชาติเทขาย 2.6 หมื่นล้าน
ภาวะตลาดหุ้นไทยเดือนกรกฎาคม 2558 ที่มีดัชนีปิดการซื้อขายที่ 1,440.12 จุด ปรับตัวลดลง 4.3% จากสิ้นเดือน มิ.ย. และลดลง 3.8% จากสิ้นปี 2557 นักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิตลาดหุ้นไทยเป็นมูลค่า 26,461 ล้านบาท ขณะที่ 7 เดือนแรกปีนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตลาดหุ้นไทย 43,370 ล้านบาท
วันนี้ (14 ส.ค.2558) ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัดวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ฟังว่า ต่างชาติไม่ได้เพิ่งมาเทขายหุ้นในช่วงเดือน ก.ค.ปีนี้ แต่ทยอยเทขายตั้งแต่ปี 2556 ปันั้นปีเดียวเทขายไป 2 แสนล้านบาท ซึ่งช่วงต้นปีหุ้นอยู่ประมาณ 1,600 จุด และเมื่อถึงปลายปีหุ้นดิ่งลงอยู่ที่ 1,300 จุด และมีการปรับตัวขึ้นในปี 2557 เป็น 1,600 จุด ภาพรวมนี้ ดร.พิพัฒน์ระบุว่า ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนถูกปรับลดลงมาตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นภาพเดียวกับปี 2557 แต่ราคาหุ้นยังขึ้น
“คำถามที่ต้องถามตอนนี้คือ อัตราส่วนต่อกำไรได้ไม่ถูก ราคาหุ้นที่ถูกปรับลงมาเป็นการปรับพร้อมประมาณการณ์ผลกำไร”
นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2556 ได้ปรับลดลงมากว่า 20 % ขณะที่ภาพรวมของการลงทุน ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาหลังการรัฐประมาณเดือน พ.ค. กลุ่มนักลงทุนที่ซื้อขายส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรีเทลและบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศ
ครึ่งหลังปี 58 “ไม่มีสัญญาณว่าจะฟื้นตัวอย่างเร็ว”
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด เปิดเผยถึงสาเหตุการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่นักลงทุนต่างชาติเทขายว่าเป็นภาพที่เกิดขึ้นในทิศทางเดียวของประเทศที่พัฒนาแล้วที่จะมีการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่น ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ไม่ขยายตัวตามที่คาดการณ์ ซึ่งสถานการณ์นี้เป็นทั้งในภูมิภาคเอเชียและอาเซียนเองที่หุ้นตกตั้งแต่ต้นปี และระหว่างที่หุ้นลงนั้นมูลค่าหุ้นไม่ได้ถูกลง เพราะกำไรลดลง วันนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยเกือบทุกอย่างถูกกำหนดด้วยดอกเบี้ยต่ำ
“กำไรจริงๆประมาณการณ์ผลกำไร และอัตราส่วนของกำไร แนวโน้มยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะฟื้นตัวอย่างเร็ว คิดว่าการฟื้นเร็วนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะตัวเลขยังนิ่งและมีไหลลงเล็กน้อย”
ระบุไม่วิกฤตเหมือนปี 40 วันนี้เศรษฐกิจโต 3% ยังยาก
ดร.พิพัฒน์ ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเหมือนปี 2540 มีไม่มาก แต่ที่น่ากลัวคือประเทศไทยจะติดกับดักการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ พร้อมประเมินว่า “วันนี้โอกาสที่ไทยจะกลับมามีตัวเลขเศรษฐกิจที่โตถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ยังยาก”
พร้อมอธิบายว่า สาเหตุมาจากการที่ไม่มีตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน เนื่องจากการส่งออกซึ่งเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ติดลบอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่ฟื้นรวมทั้งของจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) เช่น ราคาสินค้าเกษตร ราคายาง ราคาข้าวมีปัญหา ที่ส่งผลให้การบริโภคลดลง รวมทั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ได้แก่ ค่าจ้างแรงงาน และเทคโนโลยีที่ไม่เพียงพอ
“เกษตรกรที่เป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ผลิตเท่าเดิมแต่รายได้ลดลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมดัชนีลดลงตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา คนงานโรงงานที่เคยทำโอทีก็ทำลดน้อยลง เผลอๆ อาจโดนเลิกจ้าง ส่วนการบริโภคที่ลดลงเกิดจากครัวเรือนมีหนี้สิน เมื่อมีรายได้เข้ามาก็เอามาจ่ายหนี้ก่อน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาด้วยก็ทำให้ไม่มีใครอยากลงทุนเพิ่ม”
“ถ้าเครื่องจักร 3 เครื่อง มีปัญหา แม้ว่าจะมีการใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยว แต่เป็นเพียง 18% วันนี้ประเทศไทยเป็นเครื่องบินที่บินต่ำ เพราะเครื่องยนต์หมดแรง และไม่มีอะไรที่ฉุดให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจกลับไปที่เดิมได้ถึง 5% อย่างเช่นเมื่อก่อน อย่างดีก็เสมอตัว” ดร.พิพัฒน์กล่าว
กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl