สภาการท่องเที่ยวฮ่องกงยกเลิกทัวร์มาไทยถึงสิ้นเดือน ส.ค.นี้
นายโจเซฟ ถัง ผู้อำนวยการสภาการท่องเที่ยวฮ่องกง ระบุว่า หลังจากที่รัฐบาลฮ่องกงยกระดับคำเตือนเป็นระดับสีแดง ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 2 เพื่อเตือนชาวฮ่องกงให้หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็นมายังประเทศไทย ทางกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจึงตัดสินใจร่วมกันว่าจะยกเลิกการทัวร์ไปประเทศไทยทั้งหมด
โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค.2558 ไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2558 เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกง ซึ่งเมื่อพ้นสิ้นเดือนสิงหาคมไปแล้ว จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง ส่วนผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวด้วยตัวเองยังมีปริมาณการจองบัตรโดยสารเครื่องบินเท่าเดิม โดยสภาการท่องเที่ยวฮ่องกงยังประเมินว่า คณะทัวร์ที่ได้รับผลกระทบมีอยู่ประมาณ 200 คณะ ซึ่งมีลูกค้ารวมกันประมาณ 4,000 คน
ขณะที่บริษัทท่องเที่ยวในประเทศไทยบางแห่งที่รับนักท่องเที่ยวจากไต้หวัน ฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ระบุว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังคงเดินทางมาประเทศไทยตามกำหนดเดิม
ด้านนายโยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวแสดงความเสียใจต่อผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร โดยหลังเกิดเหตุระเบิดกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย
ขณะเดียวกันรัฐบาลญี่ปุ่นยังคงตรวจสอบผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นด้วย ซึ่งขณะนี้มีชาวญี่ปุ่น 1 คนได้รับบาดเจ็บและกำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยสื่อญี่ปุ่นรายงานว่า ชาวญี่ปุ่นที่ได้รับบาดเจ็บคือ นายโคตะ อันโด วัย 31 ปี เป็นพนักงานของบริษัทอีสต์ เจแปน เรลเวย์ ที่เพิ่งย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกรกฏาคม 2558 โดยได้รับบาดเจ็บขณะเดินทางกลับที่พัก
ขณะที่นายจาง ชาวไต้หวัน วัย 50 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิด พร้อมกับลูกสาวได้เดินทางกลับประเทศแล้ว โดยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไต้หวันว่า ตัวเขาและลูกสาวถูกกระจกบาดเป็นแผลลึกที่ขาทำให้ไม่สามารถเดินได้ หลังจากวิ่งหนีไปหลบที่มุมร้านค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากผู้ที่อยู่ในจุดเกิดเหตุ
ส่วนการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติ ยังไม่มีใครสามารถระบุได้ว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของฝ่ายใด โดยนายโทนี่ เดวิส นักวิเคราะห์จากนิตยสารเจน ซึ่งเป็นสื่อที่เผยแพร่ข้อมูลด้านการทหารและความมั่นคง มองว่า รูปแบบการก่อเหตุไม่ตรงกับการโจมตีที่เกิดขึ้นในภาคใต้ รวมถึงกลุ่มการเมืองในไทยและไม่คิดว่ากลุ่มอุยเกอร์จะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
สอดคล้องกับความเห็นของนายแซคคารี อาบูซา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ไม่เชื่อทฤษฏีที่ระบุว่ามีชาวอุยเกอร์เกี่ยวข้องกับการโจมตีในครั้งนี้เช่นกัน