กฟผ. ปล่อยขบวนคาราวานจุลินทรีย์ 15,000 ลิตร ช่วยเขตบางกรวย บางพลัด บางซื่อ พิชิตกลิ่นและปฏิกูล

สังคม
10 พ.ย. 54
16:06
35
Logo Thai PBS
กฟผ. ปล่อยขบวนคาราวานจุลินทรีย์ 15,000 ลิตร ช่วยเขตบางกรวย บางพลัด บางซื่อ พิชิตกลิ่นและปฏิกูล

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมคณะผู้บริหาร กฟผ. เป็นประธานปล่อยขบวนคาราวานรถบรรทุกจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ จำนวน ๑๒ คัน รวม ๑๕,๐๐๐ ลิตร เพื่อนำไปใช้ในการบำบัดน้ำเสียให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่บางกรวย บางพลัด และบางซื่อ ภายใต้โครงการ EGAT GREEN พิชิตกลิ่น และปฏิกูล ณ ทางเข้าออก กฟผ. สำนักงานกลาง บางกรวย นนทบุรี

ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า แผนการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลง ของ กฟผ. ในช่วงแรกคือ โครงการจัดตั้งธนาคารจุลินทรีย์ชีวภาพ (EM) เพื่อนำไปใช้ในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม บำบัดน้ำเสีย และสิ่งปฏิกูล โดย กฟผ. จะเปิดเป็นธนาคาร EM ในพื้นที่ ๕ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก นครสวรรค์ อยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี รวม ๑๐๐ สถานี พร้อมให้การสนับสนุน EM อย่างต่อเนื่องเดือนละ ๑ ล้านลิตร ตลอดระยะเวลา ๓ เดือน รวม ๓ ล้านลิตร ซึ่ง EM ที่ กฟผ. ให้การสนับสนุนในครั้งนี้สามารถนำไปขยายเพื่อฉีดพ่นบำบัดน้ำเสียให้กับผู้ประสบอุทกภัยได้ประมาณ ๓,๐๐๐ ล้านลิตร ซึ่งคาดว่าน่าจะเพียงพอต่อความต้องการ และช่วยในการบำบัดน้ำเสียในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี

ในส่วนของจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติรุนแรง กฟผ. อยู่ระหว่างดำเนินการตั้งธนาคาร EM ไว้คอยให้บริการประชาชนรวม ๙ สถานี ได้แก่ ๑) สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ๖ ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ๒) วัดตึก อำเภอเมืองนนทบุรี ๓) วัดเชิงกระบือ ๔) อำเภอบางกรวย ๕) เทศบาลบางกรวย ๖) อบต.บางสีทอง ๗) วัดหูช้าง ตำบลปรายบาง ๘) อำเภอบางใหญ่ และ ๙) วัดบางไผ่ อำเภอบางบัวทอง นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้จัดตั้งธนาคาร EM ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อีก ๒ สถานี คือ สำนักงานเขตบางซื่อ และสำนักงานเขตบางพลัด หากระดับน้ำลด ลง กฟผ. จะเข้าพื้นที่ดำเนินการติดตั้งธนาคาร EM ทุกจุดอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้สถานีสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ๖ ศาลากลาง จังหวัดนนทบุรี ได้ดำเนินการจัดตั้งเรียบร้อยแล้ว ผู้ประสบอุทกภัยสามารถมาติดต่อขอรับ EM ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

"จุลินทรีย์มีประสิทธิภาพ ที่ กฟผ. นำมาให้ความช่วยเหลือประชาชนในครั้งนี้ มีคุณสมบัติพิเศษคือจะช่วยย่อยสลายสิ่งปฏิกูลที่มากับน้ำเน่าเสีย รวมทั้งช่วยกำจัดกลิ่น และที่สำคัญคือจะช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้น้ำมีความสะอาดมากยิ่งขึ้น" ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง