ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กฟผ.แจงน้ำท่วมภาคกลางเกิดจากภัยธรรมชาติ เผยปริมาณน้ำ 80% มาจากนอกระบบชลประทาน

Logo Thai PBS
กฟผ.แจงน้ำท่วมภาคกลางเกิดจากภัยธรรมชาติ เผยปริมาณน้ำ  80% มาจากนอกระบบชลประทาน

ระบุน้ำท่วมครั้งนี้เกิดจากภัยธรรมชาติ ปริมาณน้ำกว่า ร้อยละ 80 มาจากนอกระบบชลประทานไม่สามารถควบคุมได้ ย้ำช่วง ก.ย.-ต.ค. หากปล่อยน้ำจากเขื่อนเต็มที่ หรือ เขื่อนเก็บน้ำไว้ทั้งหมดปริมาณน้ำที่ไหลท่วมภาคกลางยังคงมีถึงหมื่นล้านเช่นเดิม

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงข้อมูลเรื่องการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เมื่อวันที่ 12 พฤศิจกายน ว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำในประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 5 ของกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ดังนั้นประโยชน์หลักของการเก็บกักและระบายน้ำในเขื่อนต่างๆ จึงเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ในด้านการชลประทานเป็นหลัก และการผลิตไฟฟ้าเป็นเพียงประโยชน์เสริมที่ได้รับเท่านั้น กฟผ. จึงบริหารจัดการน้ำร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในรูปของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งประกอบด้วยอีก 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร สำนักการระบายน้ำ กทม. กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย และ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.)

ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวอีกว่า การระบายน้ำคณะอนุกรรมการฯ จะควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำของแต่ละเขื่อน ซึ่งได้จัดทำจากสถิติทางอุทกศาสตร์ย้อนหลัง 30-40 ปี โดยหากระดับน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวล่าง โอกาสที่จะเกิดการขาดน้ำในปีต่อไป ส่วนหากระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวบนจะทำให้เกิดน้ำล้นอ่างได้ ซึ่งในปี 2554 นี้ ในช่วงก่อนเข้าฤดูฝน เดือนพ.ค.-มิ.ย.อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีระดับต่ำกว่าเกณฑ์ฯ จึงได้เก็บกักน้ำไว้และระบายออกเล็กน้อยเพื่อการอุปโภค บริโภค แต่เมื่อถึงเดือน ก.ค.-ส.ค. ประเทศไทยประสบกับพายุฝน ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ มาก คณะอนุกรรมการฯ จึงปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนภูมิพลเพิ่มขึ้นเป็น 30-40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน (ล้าน ลบ.ม./วัน) แต่เนื่องจากท้ายน้ำก็ประสบภาวะฝนตกหนักมีปริมาณน้ำมากอยู่แล้ว ประกอบกับน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำยมซึ่งไม่มีเขื่อนกั้นได้ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงที่ จ.สุโขทัย จ.แพร่ และ จ.พิจิตร จึงทำให้ไม่สามารถระบายน้ำจากเขื่อนในปริมาณมากๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวได้

ในขณะเดียวกันอ่างเก็บน้ำเขื่อนทั้งสองแห่งยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. ด้วย ซึ่งจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากเปรียบเทียบกับสถิติที่ผ่านมา เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จะมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ ประมาณ 5,000-6,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ในปี 2554 ตั้งแต่เดือนเม.ย. - 27 ต.ค. เขื่อนภูมิพลมีน้ำไหลเข้าอ่าง 11,359 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 10,218 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกิดจากพายุฝนมากผิดปกติเกินกว่าจะควบคุมได้

นายสุทัศน์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมภาคกลางที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. เขื่อนภูมิพลมีการระบายน้ำเพียง 2,722 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ ระบายน้ำเพียง 2,725 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำที่ระบายจาก 2 เขื่อนรวมกันเพียง 5,447 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ท้ายเขื่อนมีฝนตกหนัก และมีน้ำจากแม่น้ำวัง แม่น้ำยม และน้ำทุ่ง ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ จึงทำให้มีปริมาณน้ำถึง 21,039 ล้าน ลบ.ม. ไหลไปรวมกับน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง 2,738 ล้าน ลบ.ม. และแม่น้ำป่าสัก อีก 3,165 ล้าน ลบ.ม. ไหลเข้าสู่พื้นที่ภาคกลาง ซึ่งจะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำส่วนใหญ่ ถึงร้อยละ 80 เป็นปริมาณน้ำฝนที่ตกนอกระบบชลประทาน ไม่สามารถควบคุมได้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ หากตั้งสมมติฐานว่า กฟผ. ระบายน้ำก่อนในช่วงต้นฤดูฝนเต็มที่ หรือ เขื่อนทั้งสองเก็บน้ำไว้ทั้งหมด มวลน้ำที่ไหลเข้าสู่ภาคกลางนั้นยังคงมีมากว่า 20,000 ล้าน ลบ.ม. ในขณะเดียวกัน หากไม่มีเขื่อนทั้งสองแห่งรองรับน้ำไว้ ปริมาณน้ำกว่า 10,000 ล้าน ลบ.ม. ที่เก็บกักไว้ในปี 2554 จะไหลลงสู่พื้นที่ภาคกลางทั้งหมดเช่นกัน จึงเห็นได้ว่าการที่เกิดน้ำท่วมในปีนี้มาจากภัยธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงได้ยาก กฟผ. ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการฯ ยืนยันได้ว่าการบริหารจัดการน้ำได้พิจารณาจากภาพรวมทุกด้าน ตามหลักวิชาการ และในส่วนของ กฟผ. ได้ปฏิบัติตามมติคณะอนุกรรมการฯ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง