กรมควบคุมโรคเตือนระวังโรคไข้เลือดออกในพื้นที่น้ำท่วม
นพ.วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าปริมาณน้ำที่ยังค้างทุ่งจำนวนมากในหลายพื้นที่ ทำให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้น เนื่องจากการควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย ต้องปล่อยให้น้ำไหล ร่วมกับการกำจัดขยะ แต่สถานการณ์น้ำท่วมที่ยังกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ทำให้น้ำค่อนข้างนิ่ง
ทางกรมควบคุมโรคจึงได้ให้เจ้าหน้าที่เร่งประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกให้ความรู้ประชาชน ในการดูแลและป้องกันการเกิดโรค โดยเฉพาะการใช้อีเอ็ม เนื่องจากอีเอ็มมีประสิทธิภาพในการปรับสภาพน้ำที่ท่วมขังให้มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้ลูกน้ำยุงลายไม่สามารถอยู่ได้ แต่ก็ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม
ขณะเดียวกันก็เตือนให้เฝ้าระวังโรคไข้สมองอักเสบที่เกิดจากยุงรำคาญ นอกเหนือจากโรคไข้เลือดออก โดยอาการของโรคไข้สมองอักเสบ ผู้ป่วยมีไข้ ปวดเมื่อย อาเจียน และ ชักกระตุก ในบางราย สำหรับโรคไข้เลือดออกยังไม่มีวัคซีนป้องกันโดยตรง และแม้ว่าเมื่อรักษาหายแล้วร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดนั้น แต่ก็ยังมีโอกาสเป็นได้มากกว่า 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมีอยู่ถึง 4 ชนิด
ขณะที่ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ส่วนใหญ่จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีจุดแดงที่ผิวหนัง แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่ 2 จะมีอาการรุนแรงกว่าครั้งแรก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา มักมีหน้าแดง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีจุดแดงตามตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน โรคไข้เลือดออกจะแตกต่างจากโรคไข้หวัดตรงที่จะมีน้ำมูก และไม่มีอาการไอหรือจาม
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสของโรคไข้เลือดออกโดยตรง สำหรับการรักษา จึงเป็นการรักษาตามอาการและประคับประคองให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เอง หากจำเป็นต้องใช้ยาลดไข้ควรใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้แอสไพริน เพราะอาจมีผลทำให้เลือดออกง่าย และหากอาการอ่อนเพลียให้ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำตาล และเกลือแร่บ่อยๆ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปี 2554 ถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยแล้ว 58,370 ราย เสียชีวิต 53 คน ส่วนปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเกือบ 100,000 ราย และเสียชีวิต 100 คน