ทีมนักวิจัยไทยพัฒนาหุ่นยนต์ลำเลียงยาสำเร็จ ช่วยจ่ายยาเร็วจึ้น ลดงบฯ ยาเหลือทิ้ง
หุ่นยนต์ลำเลียงยาอัตโนมัติหรือบีไฮฟ์-วัน (B-Hive1) ถูกพัฒนาร่วมกันระหว่างทีมนักวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ TCELS กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด และทีมนักศึกษาจากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นความสำเร็จของทีมนักวิจัยไทยที่สามารถพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศไทยได้
บีไฮฟ์-วัน (B-Hive1) ถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาระบบการจ่ายยาที่มีข้อจำกัดในวงการแพทย์และสาธารณสุขของไทย เช่น เครื่องจ่ายยาเดิมที่ไม่สามารถจ่ายยาได้ครบทุกรูปแบบ เช่น แบบผง กล่อง หรือขวด และข้อจำกัดด้านความเร็วที่ไม่สามารถรองรับปริมาณผู้ป่วยที่มารับยาที่โรงพยาบาลได้
มัลลิกา ปทุมวัน ทีมนักวิจัยเอกชน เปิดเผยว่าหุ่นยนต์ของต่างประเทศมีลักษณะเป็นโรบอทอาร์ม ใช้มือไปจับกล่องยาทีละกล่องๆ ซึ่งทำงานค่อนข้างจะช้า แต่ของเราจะใช้วิธีการดีดออกมา ซึ่งการดีดจะสามารถดีดพร้อมกัน หลายช่องหลายกล่อง ทำให้ความเร็วในการทำงานจะเร็วกว่าที่มีอยู่แล้ว ความเร็วของของบีไฮฟ์-วัน อยู่ที่ 150 ใบยาต่อ 1ชั่วดมง ซึ่งถ้าต้องการความเร็วมากขึ้นก็เพิ่มจำนวนตู้ ก็จะจ่ายยาได้มากขึ้น
นอกจากนี้ยังตรวจสอบข้อมูลยาคงเหลือแต่ละชนิดโดยจัดส่งไปยังเภสัชกรผ่านระบบสายพานลำเลียงได้อย่างครบวงจร ลดภาระงานเภสัชกรเหลือเพียงตรวจเช็คยา ลดข้อผิดพลาด และปัญหาการสูญหายของยา ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณจากการลดปริมาณยาเหลือทิ้งได้มูลค่า 1,000 ล้านบาทต่อปี
ปัจจุบันระบบดังกล่าวพัฒนาแล้วเสร็จและพร้อมจำหน่ายในราคาถูกกว่าเครื่องนำเข้าที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานใกล้เคียงกัน ประมาณ 1 เท่า