นายกสมาคมหูหนวก” เปิดข้อมูลน้ำท่วม ทำคนพิการเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือเหตุ เพราะการสื่อสารเป็นหลัก
จากสถานการณ์อุทกภัยน้ำท่วมประเทศไทยในครั้งนี้ มีผู้คนจำนวนมาก ต้องทุกข์ยากลำบาก คนพิการก็เช่นกัน นับตั้งแต่การรับรู้และทำความเข้าใจสถานการณ์นำการเตรียมการป้องกัน การจะตัดสินใจอพยพ การขอความช่วยเหลือ ก็ทำได้อย่างยากลำบากไม่แพ้คนอื่น ๆ การช่วยเหลือคนพิการในแต่ละประเภทอาจต้องอาศัยความรู้ทางเทคนิคตามเฉพาะประเภทความพิการ ไม่ว่าจะเป็นหูหนวก ตาบอดพิการทางการเคลื่อนไหว
เหตุนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งองค์กรคนพิการ และเครือข่ายจิตอาสาจึงได้ร่วมมือกันจัดการด้านการให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมเพื่อช่วยให้คนพิการรอดพ้นภัยพิบัติไปพร้อมกับคนอื่นๆล่าสุดวันนี้ (21 พ.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่อาคารไทยซัมมิท ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดบริการพิเศษเพื่อช่วยเหลือคนหูหนวก โดยตั้งศูนย์ช่วยเหลือคนหูหนวกที่ประสบอุทกภัยที่อาคารไทยซัมมิอ ชั้น 12
นายพิทยาพล จันทนะสาโร รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เนื่องมากจากศูนย์ TTRS ที่มีสำนักงานอยู่ที่มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมมาตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้จำเป็นต้องปิดทำการตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม -6 พฤศจิการยน 2554 ดังนั้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิการยนที่ผ่านมา ทางกสทช. และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) บริษัทอินเตอร์เน็ตประเทศไทยจำกัด (มหาชน)และบริษัทชีวาเลียร์(ประเทศไทย) ร่วมมือกันเปิดศูนย์ช่วยเหลือคนหูหนวกที่ประสบอุทกภัย โดยมีเป้าหมายให้บริการคนูหนวก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอุปสรรคในการติดต่อสื่อสารและการรับรู้ข้อมูล จึงทำให้ไม่สามารถได้รับทราบข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำท่วม การช่วยเหลือจากภาครัฐ สิทธิประโยชน์ที่จำเป็นจะต้องได้รับจากรัฐ รวมทั้งการร้องขอความช่วยเหลือเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วน ศูนย์ช่วยเหลือคนหูหนวกที่ประสบอุทกภัยได้จัดเจ้าหน้าที่ช่วยรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน (ล่ามภาษามือ) จำนวน 8คน ใน 2ช่วงเวลา คือตั้งแต่ 8.30-15.30 น. และตั้งแต่ 15.30-21.00 น. พร้อมทั้งทีมประชาสัมพันธ์ ทีมติดต่อประสานงาน ทีมลงพื้นที่ ทีมงานกลาง เพื่อดำเนินการช่วยเหลือคนหูหนวกที่ประสบ
นายพิทยา กล่าวต่อว่า ศูนย์ TTRS มีเป้าหมายเพื่อให้บริการแจ้งเหตุด่วน ประสานงาน เพื่อให้ความช่วยเหลือ หรือให้ข้อมูลแก่คนหูหนวกตามที่ร้องขอ ประสานงานให้ความช่วยเหลือกรณีคนหูหนวกต้องการอพยพ โดยจัดหารถหรือเรือเข้าไป บริการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ทั้งการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมให้กับคนหูหนวก และประสานกับสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำฐานข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ในการติดต่อสื่อสารของสมาชิกคนหูหนวก เพื่อช่วยเหลือคนพิการได้ทันท่วงที โดยคนหูหวกที่ต้องการใช้บริการสามารถติดต่อได้ที่ บริการ SMS และ MMS ที่เบอร์โทรศัพท์ 088-504-4258 หรือบริการผ่านทางเว็บไซด์ www.ttrs.or.th โดยเลือกใช้บริการสนทนาข้อความหรือบริการสนทนาวีดิทัศน์ รวมถึงบริการผ่านทางเฟซบุ๊ค ชื่อ TTRS Thailand โดยจากผลการดำเนินการหลังจากที่ส่งข้อมูลแจ้งข่าวสารเรื่อง “ศูนย์ช่วยเหลือคนหูหนวกที่ประสบอุทกภัย”ออกไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิการยนที่ผ่านมา สรุปผลถึงวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีคนหูหนวกส่งเอสเอ็มเอสเข้ามา จำนวน 389ข้อความ MMS จำนวน 68 ครั้ง และเข้าผ่านการสนทนาวีดีโอจำนวน 54 ครั้ง
ด้านศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงษ์พันธุ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าวว่า การสื่อสารเป็นอุปสรรคสำคัญของคนหูหนวก คนหูหนวกจึงจำเป็นต้องใช้ล่ามภาษามือในการสื่อสาร ซึ่งในปัจจุบันล่ามภาษามือที่อยู่นั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนหูหนวก เวลาที่คนหูหนวกเดินทางไปโรงพยาบาลหนึ่งครั้งต้องมีล่ามมาภาษมือไปด้วยและใช้เวลาบริการนานถึงครึ่งวัน ดังนั้นการใช้เทคโนโลยี TTRS เข้ามาช่วยนั้นสามารถลดการใช้บริการล่ามภาษามือได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้การเปิดศูนย์ TTRS พิเศษเพื่อให้บริการสำหรับคนพิการในภาวะที่ประเทศประสบภัยน้ำท่วม ตนถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง เพราะทำให้คนหูหนวกเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เวลาที่มีหน่วยงานรัฐ หรือเอกชนเข้าไปแจกสิ่งของที่มีความจำเป็น คนหูหนวกจะได้ไม่เสียสิทธิ์ที่ควรจะได้รับ ทำให้คนหูหนวกเดินทางมารับสิ่งของได้ทัน
ด้านนายยงยุทธิ์ บริสุทธิ์ นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา คนหูหนวกประสบปัญหาในการช่วยเหลือเป็นอย่างมาก เพราะไม่สามารถรับทราบข้อมูลอะไรได้เลย ซ้ำร้ายเมื่อเริ่มมีคนมาให้การช่วยเหลือ คนหูหนวกก็จะเป็นคนท้ายๆ ที่จะได้รับการช่วยเหลือ หรือบางทีก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือเลย เพราะไม่สามารถสื่อสารเพื่อร้องขอการช่วยเหลือได้ ดังนั้นการที่ศูนย์ TTRS ได้จัดทำระบบขึ้นมาก็เพื่อช่วยหลือคนหูหนวกในเหตุภัยพิบัติ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างมากสำหรับคนหูหนวก และจะดียิ่งขึ้นหากระบบนี้ได้รับการพัฒนาต่อยอด นอกจากเหตุการณ์อุทกภัยแล้ว อาจจะเพิ่มเหตุการณ์ภัยพิบัติอื่นๆ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิเข้าไปด้วย