“วรรณวรรธน์” กับงานค้นคว้าในนิยายประวัติศาสตร์
ข้อความจากกฎหมายตราสามดวงว่าด้วยกฎมณเฑียรบาล หลักฐานชั้นต้นสมัยอยุธยา ที่บันทึกว่ามีขันทีชาวต่างชาติในขบวนเสด็จของกษัตริย์ จุดประกายให้เกิดเรื่องราวของชาวตุรกี ที่ปลอมตัวเป็นขันทีเข้ากรุงศรีอยุธยามาสืบราชการลับ ใน "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว" นวนิยายเรื่องใหม่ที่เตรียมสร้างเป็นละครของ "วรรธนวรรณ จันทรจนา" เจ้าของนามปากกา "วรรณวรรธน์"
ตั้งใจให้นิยายทุกเรื่องมีพล็อตและฉากหลังที่แปลกใหม่ ผลงานหลายเรื่องจึงมีแง่มุมประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำ อย่างผลงานเรื่องดังที่สร้างเป็นละคร "ข้าบดินทร์" เชื่อมโยงตำราคชสารเข้ากับเหตุการณ์บ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 3 และนิยาย "จันทราอุษาคเนย์" ที่มาจากงานวิชาการเกี่ยวกับ "เจนละ" อาณาจักรโบราณกว่าพันปีก่อน
นอกจากเน้นความถูกต้องในเรื่องประวัติศาสตร์ในนวนิยาย เจ้าของนามปากกาวรรณวรรธ ยังให้ความสำคัญกับการใช้ถ้อยคำภาษาที่สวยงาม ส่วนหนึ่งก็มีต้นแบบมาจากนักเขียนชั้นครูหลายๆ ท่าน อย่าง ทมยันตี เป็นต้นแบบสอนการวางตัวละคร มี ว.วินิจฉัยกุล กฤษณาอโศกสิน คึกฤทธิ์ ที่อ่านซึมซับการดำเนินเรื่องตั้งแต่เด็ก
อรรถรสนิยายแม้ต้องมีเรื่องความรัก แต่ฉากหลังที่สมจริงจะสร้างความหนักแน่นให้กับเนื้อเรื่อง วรรณวรรธน์จึงเลือกอ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่างๆ เช่น หากต้องการใส่รายละเอียดเรื่องชาวต่างชาติในสยาม จะเลือกอ้างอิงจากจดหมายเหตุลาลูแบร์ หรือหากต้องการสร้างตัวละครในสงครามไทย-ญวน ก็เลือกอ้างอิงจากอานามสยามยุทธของเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ก่อนแต่งแต้มบันทึกทางประวัติศาสตร์ให้เกิดอรรถรสเชิงวรรณศิลป์
สถิติจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 43 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยระบุว่า "นวนิยาย" เป็นประเภทหนังสือที่มีผู้นิยมอ่านเฉลี่ยร้อยละ 9 มาเป็นอันดับที่ 3 ของหนังสือทุกประเภท โดยนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ถือเป็นอีกแนวหนึ่ง ที่มีผู้ติดตามอ่านนิยมต่อยอดสร้างเป็นละครโทรทัศน์
ในฐานะนักเขียนการสร้างงานบนพื้นของหลักฐานที่อ้างอิงได้ จึงมีส่วนสำคัญต่อการสร้างคุณค่าให้วรรณกรรรม