ท้องถิ่นเหนือล่างชี้ ปฎิญญาร้อง อปท. จัดตั้ง “ศูนย์ภัยพิบัติ”
พงษ์เทพ ชัยอ่อน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว อุตรดิตถ์ โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า เหตุการณ์ดินถล่มที่ตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำป่า อุตรดิตถ์ ทั้งกรณีน้ำท่วมภาคเหนือตอนล่าง กำแพงเพชร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร เหตุการณ์เหล่านี้เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า การบริหารราชการส่วนกลางยังคงยึดแนวรับมากกว่าเชิงรุกในการแก้ปัญหา บางครั้งเกิดปัญหาความขัดแย้งภายในองค์กร ตนเห็นว่าท้องถิ่นก็สามารถจัดการได้ โดยใช้ภูมิปัญญาที่มีของท้องถิ่น สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการ
ตัวอย่างเช่น มีแผนงาน มีข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย มีการติดตั้งระบบเตือนภัย ซึ่งท้องถิ่นทำได้และมีข้อมูลอยู่ในมือ มีการฝึกอบรมของบุคลากรและพี่น้องประชาชน เพื่อเตรียมตัวรับภัยที่จะเกิดขึ้น ถ้าท้องถิ่นมีการเตรียมความพร้อมจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณในการช่วยเหลือ เมื่อเกิดภัยข้อมูลและแนวทางในการจัดการภัยพิบัติของท้องถิ่นมีแนวทางการจัดการที่เป็นรูปธรรมมากกว่าส่วนกลาง เพราะส่วนกลางต้องรอคำสั่งจากผู้บัญชาการสั่งมาอีกทีหนึ่ง
“สำหรับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจเข้าไปดำเนินการ ไม่มีบทบัญญัติข้อใดให้อำนาจเราในเรื่องนี้ แต่ท้องถิ่นดำเนินการเองเพราะเป็นการดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว กล่าว
สำหรับข้อเสนอนโยบายสาธารณะด้านการจัดการภัยพิบัติ ชุมชนท้องถิ่นพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเรียกร้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดตั้ง ‘ศูนย์จัดการภัยพิบัติ’ ในแต่ละพื้นที่ของชุมนท้องถิ่น โดยออกแบบให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทั้งภาคท้องถิ่น ท้องที่ และภาคประชาชนเพื่อเป็นศูนย์กลางบัญชาการสำหรับเตรียมความพร้อมในการควบคุมและสั่งการในภาวะวิกฤติ ตลอดจนแจ้งเตือนภัยพิบัติที่จะเกิดในพื้นที่ สร้างโอกาสในการจัดการเพื่อช่วยเหลือตนเองในค่ายที่พักชั่วคราว และฟื้นฟูบูรณะชุมชนทั้งประสานงานกับศูนย์การจัดการภัยพิบัติระดับจังหวัด
รวมถึงให้ อปท. จัดทำ ‘แผนที่การจัดการภัยพิบัติประจำตำบล’ ประกอบด้วยข้อมูลแหล่งอาหาร จุดที่พักชั่วคราว พื้นที่ปลอดภัย พื้นที่เสี่ยงในตำบล อุปกรณ์ และทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ในการจัดการภัยพิบัติ กำหนดศูนย์อำนวยการระดับหมู่บ้านและศูนย์อำนวยการกลางจัดการภัยพิบัติ
สำหรับข้อเสนอนโยบายสาธารณะในด้านอื่นที่มีประเด็นน่าสนใจ ได้แก่ ข้อเสนอนโยบายสาธารณะด้านการจัดการสวัสดิการสังคมโดยชุมชน ให้ อปท. มีข้อบัญญัติท้องถิ่น ว่าด้วยเรื่อง ‘การจัดสวัสดิการให้แก่ชุมชนที่ครอบคลุมกลุ่มผู้ถูกทอดทิ้ง ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ’
ข้อเสนอนโยบายสาธารณะด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ อปท. จัดตั้ง ‘โครงข่ายในการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่แบบมีส่วนร่วม’ เพื่อชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจต่อรองในการจัดการน้ำอย่างเป็นธรรม และเปิดเผยข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนเพื่อวางแผนในการทำเกษตร
นโยบายด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ให้ อปท. สนับสนุนให้เกิดกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ครอบคลุมทุกหมู่บ้านเพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี และเพิ่มพื้นที่การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในตำบลมากขึ้น