ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตั้ง"ปฎิญญาพิษณุโลก" เตรียมป้องกันภัยพิบัติ ชี้รัฐร่วมมือแก้ไข

1 ธ.ค. 54
05:56
32
Logo Thai PBS
ตั้ง"ปฎิญญาพิษณุโลก" เตรียมป้องกันภัยพิบัติ ชี้รัฐร่วมมือแก้ไข

เหตุการณ์ดินถล่มที่ตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำป่า อุตรดิตถ์ น้ำท่วมภาคเหนือตอนล่าง กำแพงเพชร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร เหตุการณ์เหล่านี้เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าการบริหารราชการส่วนกลางยังคงยึดแนวรับมากกว่าเชิงรุกในการแก้ปัญหา” คำพูดของ พงษ์เทพ ชัยอ่อน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว อุตรดิตถ์ สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของชุมชนท้องถิ่นต่อการบริหารจัดการจากส่วนกลาง และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้นของการกระจายอำนาจที่ผ่านมาแล้วกว่า 10 ปี

ช่วงเกิดภัยพิบัติ ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างต่างมีระบบการจัดการเพื่อรับมือภัยพิบัติได้ดีในระดับหนึ่ง โดยใช้ภูมิปัญญาที่มีในท้องถิ่น สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการ ตัวอย่างเช่น มีแผนงาน มีข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย มีการติดตั้งระบบเตือนภัย มีการฝึกอบรมของบุคลากรและพี่น้องประชาชนเพื่อเตรียมตัวรับภัยที่จะเกิดขึ้น มีการจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณในการช่วยเหลือเมื่อเกิดภัย
           
เวทีนโยบายสาธารณะระดับเครือข่ายภาคเหนือตอนล่างที่จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ เมืองพิษณุโลก ยิ่งตอกย้ำพลังการบริหารจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น แสดงให้เห็นว่าชุมชนท้องถิ่นในวันนี้กำลังเปลี่ยนแปลง และกำลังส่งต่อความคิดจากข้างล่างขึ้นข้างบน จากฐานสู่ยอด            มุมมองเรื่องการจัดการภัยพิบัติจากส่วนกลางกับศักยภาพในการบริหารจัดการด้วยตนเองของชุมชนท้องถิ่น เป็นฐานความคิดที่ครอบคลุมการบริหารจัดการตนเองโดยชุมชนท้องถิ่นในประเด็นอื่นๆ ด้วย
          
กิจกรรม ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างร่วมกันคิดและแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) นโยบายสาธารณะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ใน 7 ประเด็น ได้แก่ 1.การจัดการภัยพิบัติ 2.การจัดการสวัสดิการสังคมโดยชุมชน 3.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน 5.การบริหารจัดการท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม 6.เกษตรกรรมยั่งยืน และ 7.ระบบสุขภาพชุมชน  จนนำไปสู่ ‘นโยบายสาธารณะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง’ เพื่อส่งเสียงไปยังภาครัฐ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยชุมชนภาคเหนือตอนล่างร่วมกันประกาศออกมาเป็น ‘ปฏิญญาพิษณุโลก’
          
 เนื้อหาของปฏิญญาฉบับนี้ประกอบไปด้วยนโยบายสาธารณะที่ครอบคลุมใน 7 ประเด็นดังกล่าว ในแต่ละประเด็นมีข้อเสนอที่ถูกระดมความคิดจากความต้องการของภาคประชาชนในชุมชนท้องถิ่น มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้สนับสนุนให้กระบวนการดังกล่าวดำเนินไปบนฐานการมีส่วนร่วม นักวิชาการเป็นขุมพลังทางปัญญา ปราชญ์ชาวบ้านซึ่งเป็นศักยภาพที่แท้จริงของแต่ละชุมชนท้องถิ่นเข้าร่วม
          
 ธนวัฒน์ จอมประเสริฐ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ได้สะท้อนมุมมองต่อการบริหารจัดการตนเองโดยชุมชนท้องถิ่นผ่านการจัดการภัยพิบัติของชุมชนท้องถิ่น ว่า หากเป็นปัญหาที่ใหญ่หรือภัยพิบัติขนาดใหญ่ ชุมชนท้องถิ่นไม่สามารถจัดการกันเองได้ แต่ชุมชนท้องถิ่นมีศักยพภาพในการบริหารจัดการเพื่อบรรเทา หรือบริหารจัดการให้ตัวเองอยู่รอดในสถานการณ์ขณะนั้น โดยอาศัยข้อมูลในชุมชนที่มีอยู่ย่อมรู้ดีกว่าส่วนกลาง           

“ผมคิดว่าถ้านำภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิมในชุมชนตัวกลับไปใช้ใหม่บวกกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน มันก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลก็จะต้องมองว่าถ้าใช้เฉพาะนโยบายก็อาจจะไม่ครบถ้วน มองไม่เห็นสภาพความเป็นจริงในชุมชน ฉะนั้นเอาตัวเทคโนโลยี นโยบาย และภูมิปัญญาชาวบ้าน จึงจะแก้ปัญหาได้ ผมคิดอย่างนั้น” ธนวัฒน์ กล่าว           

เมื่อถามถึงความพยายามของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างที่นำเสนอนโยบายสาธารณะทั้ง 7 ด้าน ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหนที่ข้อเสนอเหล่านี้จะถูกนำไปปฎิบัติจริง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ บอกว่า           

“รัฐบาลต้องเอาจริง เป็นไปได้หรือไม่ เท่าที่ฟังเสียงชุมชนเขาก็เห็นดีด้วยที่จะจัดตั้งเป็นลักษณะนโยบายสาธารณะ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมันอยู่ที่งบประมาณ อยู่ที่นโยบาย คำว่านโยบายก็แปลว่าเงิน งบประมาณที่จะมาสนับสนุน รัฐบาลต้องมีนโยบายเสียก่อน เห็นความสำคัญ จำแนกประเภทชัดเจน ทุกอย่างอยู่ที่กระบวนการ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ผู้นำทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ”ธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า ถ้า อบต. ฝ่ายปกครองเป็นสีหนึ่ง ยุ่งแน่ ใน อบต. ผู้ใหญ่บ้านหลังนี้เป็นสีหนึ่ง นายก อบต.เป็นอีกสีหนึ่ง การบริหารจัดการถ้าเอาเรื่องพวกนี้มาเกี่ยวข้องพังอย่างเดียว อบจ.ทีมหนึ่ง อบต.ก็ทีมหนึ่ง สจ.ก็อีกทีมหนึ่ง ซึ่งมันเป็นธรรมชาติของระบบประชาธิปไตย แต่มันก็เป็นข้อเสียของประชาธิปไตย นี่คือข้อเสีย การทำงานเลยติดขัดไปหมด โครงการจัดการภัยพิบัติจะเป็นไปได้หรือไม่ เป็นไปได้ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญและจัดระบบให้ดี อย่าไปอิงการเมืองมาก ให้ใช้ระบบจิตอาสาให้มาก ถ้าไปอิงการเมืองก็แตกแยก

มีหลายปัจจัยที่จะทำให้ข้อเสนอนโยบายสาธารณะหรือ ‘ปฏิญญาพิษณุโลก’ ฉบับนี้ถูกนำไปปฏิบัติ หรือถูกบรรจุในตัวบทกฎหมาย แต่สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นจากความพยายามดังกล่าวของชุมชนท้องถิ่นก็คือ ศักยภาพที่ภาครัฐต้องหันมามองและฟังอย่างตั้งใจ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง