สำนักงาน กสทช.แจงศาลปกครองกรณี 5 ช่องทีวีดิจิทัลฟ้องเรียกค่าเสียหาย
สำนักงาน กสทช.ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาลปกครองกรณีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 5 ช่อง ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 9,550 ล้านบาท ยืนยันได้ดำเนินการทุกด้านเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสู่การรับชมดิจิทัลทีวีเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนด้วยความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ตามที่ผู้ประกอบการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล 5 ช่อง ประกอบด้วย ช่องวัน, จีเอ็มเอ็ม แชนแนล, พีพีทีวี, ไทยรัฐทีวี และไบรท์ทีวี ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช.ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ กสทช.ปฏิบัติตามกฎหมาย พร้อมเรียกค่าเสียหายของแต่ละสถานี รวมเป็นเงินจำนวน 9,550 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ขอชี้แจงข้อเท็จจริงที่ผ่านมาว่า ได้ดำเนินการในทุกด้านเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสู่การรับชมดิจิทัลทีวีเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนตลอดมาด้วยความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายดังนี้
1. สำนักงาน กสทช.ขอยืนยันว่าผู้ประกอบการกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลที่เข้าร่วมโครงการกับสำนักงาน กสทช.จะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพกล่องก่อนได้รับสติ๊กเกอร์ติดข้างกล่องจากสำนักงาน กสทช. เพื่อยืนยันกับผู้บริโภค
2. การแจกคูปองสนับสนุนประชาชน ขณะนี้สำนักงาน กสทช.ได้ดำเนินการจัดทำและแจกจ่ายคูปองดิจิทัลทีวีไปยังครัวเรือนที่มีเจ้าบ้านแล้วทั่วประเทศตามฐานข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2557 โดยบัดนี้ได้ดำเนินการแจกจ่ายคูปองดิจิทัลทีวีครบทุกจังหวัดแล้ว รวมทั้งสิ้น 13,571,296 ฉบับ และมีประชาชนนำคูปองมาแลกแล้ว 7,802,091 ฉบับ
3. การขยายโครงข่ายทีวีดิจิทัลและการกำกับดูแลผู้ประกอบการโครงข่ายทีวีดิจิทัลให้สามารถขยายโครงข่ายทีวีดิจิทัลได้ทันตามที่กำหนดนั้น กสท.ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการทั้ง 4 ราย ดำเนินการติดตั้งและให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ได้แก่ กองทัพบก จำนวน 2 โครงข่าย, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 โครงข่าย, กรมประชาสัมพันธ์ จำนวน 1 โครงข่าย และองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่ง ประเทศไทย จำนวน 1 โครงข่าย เพื่อรองรับการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล โดยกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้องดำเนินการติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมเพื่อการให้บริการโครงข่ายฯ ให้ครบถ้วนทุกจังหวัด โดยแบ่งออกเป็นสถานีหลัก 39 สถานี และสถานีเสริม 31 สถานี
โดยขณะนี้ ได้ผู้รับใบอนุญาต ได้แก่ กองทัพบก, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ได้มีการติดตั้งสถานีหลักครบถ้วนแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้งสถานีเสริมให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด ส่วนกรมประชาสัมพันธ์ยังไม่สามารถดำเนินการติดตั้งสถานีหลักและสถานีเสริมได้ และอยู่ระหว่างการบังคับใช้มาตรการทางปกครอง ทั้งนี้ ไม่มีผลกระทบต่อการออกอากาศของผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน เนื่องจากไม่มีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินรายใดที่ใช้บริการโครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์
และ 4. การประชาสัมพันธ์ที่สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการไปแล้ว คือการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงประโยชน์และข้อดีของการรับชมบริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลในรูปแบบชุดประชาสัมพันธ์ดิจิทัลทีวี จำนวน 9 ชุด และชุดประชาสัมพันธ์คูปองดิจิทัลทีวี แลกซื้ออุปกรณ์สนับสนุนการรับชม จำนวน 2 ชุด โดยได้ขอและได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการดิจิทัลทีวีดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อร่วมกันเชิญชวนประชาชนเปลี่ยนผ่านรับชมดิจิทัลทีวีผ่านสื่อต่าง ๆ ก่อนเริ่มต้นการประมูลจนถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกันสำนักงาน กสทช.ได้ดำเนินการเดินสายประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนใช้คูปองดิจิทัลทีวีในการแลกรับหรือเป็นส่วนลดในการซื้ออุปกรณ์รับชมบริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลทีวีตามชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องรับโทรทัศน์ และอุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้ผู้รับใบอนุญาตเข้าร่วมแสดงผลงานเกี่ยวกับดิจิทัลทีวี