กระแสรายการประกวดร้องเพลงแหวกแนวในเกาหลีใต้
สิ่งสำคัญของนักร้องในเวทีประกวด ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า หรือการสื่อสารด้วยสายตา กลายเป็นสิ่งไร้ความหมายในรายการประกวดร้องเพลงรูปแบบใหม่ของเกาหลีใต้อย่าง Mystery Music Show Mask King เพราะผู้เข้าประกวดทุกคนจะต้องสวมหน้ากากปิดบังใบหน้าระหว่างโชว์พลังเสียง เพื่อให้กรรมการตัดสินที่คุณภาพน้ำเสียงอย่างแท้จริง บ่อยครั้งเมื่อมีการเปิดเผยใบหน้านักร้องดังที่อยู่เบื้องหลังหน้ากากก็สร้างความแปลกใจให้กับผู้ชมทางโทรทัศน์ไม่น้อย
กลยุทธ์ที่ให้ผู้เข้าประกวดร้องเพลงทำตัวเป็นปริศนานี้ ยังถูกใช้ในอีกหลายรายการ เช่น I Can See Your Voice โดยผู้ประกวดจะแบ่งเป็นกลุ่มนักร้องอาชีพและคนที่ร้องเพลงไม่เป็น ซึ่งกรรมการจะต้องเฟ้นหานักร้องตัวจริงจากกลุ่มผู้สมัครดังกล่าว โดยตัดสินจากลีลาการโพสท์ท่าร้องเพลงและฟังตัวอย่างเสียงเพียงเสี้ยววินาที
โดยในรอบโชว์การลิปซิงค์ กรรมการต้องจับผิดผู้สมัครที่ลิปซิงค์เสียงผู้อื่นให้ได้ ก่อนจบด้วยรอบการสัมภาษณ์ประวัติการร้องเพลง ซึ่งผู้สมัครที่มีแววเป็นนักร้องตัวปลอมจะตกรอบไปทีละคน ผู้ชนะคนสุดท้ายจะมีโอกาสโชว์น้ำเสียงที่แท้จริง หากผู้ที่กรรมการเลือกเป็นนักร้องตัวจริงจะได้เซ็นสัญญาออกผลงานกับค่ายเพลง แต่หากผู้ชนะคือผู้ไร้ความสามารถในการร้องเพลงที่ตบตากรรมการได้สำเร็จ ก็จะได้รับเงินรางวัล 5 ล้านวอน หรือ 150,000 บาท
อีเทควอน นักวิจารณ์วัฒนธรรม กล่าวว่า 6 ปีที่ผ่านมา ความนิยมต่อรายการประกวดร้องเพลงทำให้มีรายการใหม่ๆ แจ้งเกิดทุกปี โดยเทรนด์ของปี 2015 คือรายการประกวดร้องเพลงที่นำเอารูปแบบของเกมโชว์มาใช้ ซึ่งปริศนาต่างๆช่วยให้ผู้ชมได้ลุ้นมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ประกวดมีโอกาสชนะได้อย่างเท่าเทียมกันยิ่งขึ้น
ในช่วงปี 2009 ถึงปี 2012 รายการประกวดร้องเพลงของเกาหลีใต้ จะเน้นการเฟ้นหาดาวดวงใหม่ประดับวงการ ทั้ง Superstar K, Star Audition และ Kpop Star ส่วนกระแสช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความนิยมต่อเพลงเก่าทำให้รายการ Immortal Song ซึ่งนำนักร้องรุ่นใหม่มาร้องเพลงรักที่อยู่ในความทรงจำและรายการ I Am a Singer ที่ให้นักร้องผู้คร่ำหวอดกลับมาโชว์พลังเสียงบนเวทีอีกครั้ง ต่างเป็นรายการร้องเพลงที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมในปัจจุบัน