ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สสส. ชูอุดรโมเดลลดวัยรุ่นตั้งครรภ์ได้ 43% เปิดรับฟัง-ให้ความรู้ผ่านแชทไลน์-เฟซบุ๊ก

สังคม
15 ก.ย. 58
12:35
321
Logo Thai PBS
สสส. ชูอุดรโมเดลลดวัยรุ่นตั้งครรภ์ได้ 43% เปิดรับฟัง-ให้ความรู้ผ่านแชทไลน์-เฟซบุ๊ก

วันนี้ (15 ก.ย.2558) ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานสรุปบทเรียนโครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตเยาวชนด้านสุขภาวะทางเพศจังหวัดอุดรธานี จ.อุดรธานี

ทพ.ศิริเกียรติกล่าวว่า สสส.มีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ 1.สนับสนุนการทำงาน ใน 21 จังหวัด เชื่อมโยงการทำงานในระดับอำเภอและตำบล 2.สนับสนุนการพัฒนากลไกขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาใน 34 จังหวัดในระยะยาว เพื่อให้วัยรุ่นในสถานศึกษาได้เรียนรู้เรื่องเพศศึกษา นำไปสู่การมีพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสม และมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย สำหรับการดำเนินงานในจ.อุดรธานี ครอบคลุม 57 ตำบล จาก 10 อำเภอ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถพัฒนาเป็น “อุดรโมเดล” เป็นแนวทางการทำงานให้จังหวัดอื่นๆ ต่อไปได้ การดำเนินงานมีการสื่อสารความรู้ ข้อมูลสุขภาวะทางเพศกับคนในชุมชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ทุกหมู่บ้าน สนับสนุนถุงยางอนามัย และใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาช่วยการทำงาน

นพ.สุรพงษ์ ผดุงเวียง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า การดำเนินงานจัดการปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จเป็นอุดรโมเดล สถิติการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลงอย่างชัดเจนจาก 3,521 คน ในปี 2556 เหลือเพียง 1,988 คน ในปี 2558 ลดลงร้อยละ 43 และพฤติกรรมของเยาวชนมีทิศทางที่สร้างสรรค์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ทำความเข้าใจ และวางแผนยุทธศาสตร์การป้องกันแก้ไขครอบคลุมทุกเหตุปัจจัย คนในพื้นที่เข้าถึงบริการให้คำปรึกษา ทั้งแบบพบด้วยตนเอง สื่อสารผ่านแอพพลิเคชันไลน์ เฟซบุ๊กมากกว่า 10,000 รายต่อปี และมีการวางแผนครอบครัวและอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเตรียมขยายการดำเนินการให้ครบทุกอำเภอทั้งจังหวัดอุดรธานีต่อไป

พ.อ.อ.แพง จันเต ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลจำปาโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี กล่าวว่า จุดสำคัญของการดำเนินงานสร้างเสริมคุณภาพชีวิตเยาวชนด้านสุขภาวะทางเพศ แก้ปัญหาการท้องไม่พร้อมคือ การสร้างแกนนำทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในท้องถิ่นที่เข้มแข็งและเข้าใจ ต้องเริ่มจากการปรับวิธีคิดให้เข้าใจเยาวชนอย่างแท้จริง จากนั้นพัฒนาและบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นรูปธรรมและเพิ่มจุดบริการสุขภาพ ร่วมกับ รพ.สต. และเครือข่ายชุมชม โดยต่อไปจะมีการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ามาปรับใช้ในกิจกรรมเพิ่มเติม เช่น เปิดเวทีทำเข้าใจชุมชนปรับทัศนคติการมีครอบครัวตั้งแต่อายุน้อย เป็นต้น

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง