เปิดตัวแอปพลิเคชัน
น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เป็นหนังสืออ้างอิงที่มีความสำคัญซึ่งประมวลคำที่มีใช้ในภาษาไทยกว่า 43,000 คำ พร้อมให้คำอ่าน ความหมายและที่มาของคำ เพื่อให้การเขียนหนังสือไทยมีมาตรฐานเดียวกันไม่ลักลั่น ส่วน "อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน" เป็นหนังสือที่รวบรวมคำภาษาไทยที่มักมีผู้อ่านผิดและเขียนผิดโดยให้คำอ่านอย่างถูกต้องและคำที่เขียนอย่างถูกต้อง
สำนักงานราชบัณฑิตยสถาเห็นว่าหนังสือทั้ง 2 เล่ม มีความสำคัญและมีประโยชน์แก่ประชาชน และมีผู้ใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงเป็นจำนวนมากมาโดยตลอด สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจึงได้นำข้อมูลจากหนังสือทั้ง 2 เล่ม มาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้งานบนโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ตโฟน (smart phone) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) อธิบายว่าแอปพลิเคชันพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ นี้จะแสดงผลการใช้งาน 2 รูปแบบ คือ รูปแบบหมวดอักษรและรูปแบบการค้นคำ ผู้ใช้สามารถค้นคำได้ทั้งจากตัวอักษรตั้งต้นและจากส่วนหนึ่งของคำ ทั้งยังค้นคำจากประวัติการใช้งานของผู้ใช้เองได้ด้วย ส่วนแอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ผู้ใช้สามารถเลือกใช้งานได้ 2 หมวด คือ (1) "หมวดอ่านอย่างไร" เพื่อทราบคำอ่านที่ถูกต้องและ (2) "หมวดเขียนอย่างไร" โดยพิมพ์คำที่ต้องการทราบคำอ่านหรือการสะกดคำลงไป แม้ว่าผู้ใช้สะกดคำผิด แอปพลิเคชันนี้ก็แนะนำการสะกดคำที่ถูกต้องให้ นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังค้นคำจากประวัติการใช้งานของผู้ใช้เองได้เช่นเดียวกัน
ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทั้ง 2 โปรแกรมนี้ ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS Version 7, iOS Version 8, Android และ Windows Mobile