กราฟิกดีไซเนอร์ชาวดัชต์ออกแบบตัวอักษรเพื่อเด็กบกพร่องการอ่าน
ตัวอักษร d ที่เน้นส่วนบนให้กลมกว่าส่วนล่าง ให้แตกต่างจากตัว p ตัว h ที่ลากเส้นตั้งให้ยาวกว่าตัว n อย่างชัดเจน หรือตัว c ที่เปิดช่องว่างให้กว้าง จะได้ไม่สับสนกับตัว e ความแตกต่างเพียงเล็กน้อย แต่ช่วยให้เด็กโรค Dyslexia หรือความบกพร่องด้านการอ่าน แยกรูปร่างของตัวอักษรที่คล้ายกันแต่ละตัวได้ง่ายขึ้น คือผลงานของ Christian Boer กราฟิกดีไซเนอร์ชาวดัชต์ ที่ใช้ประสบการณ์จากโรคเดียวกันในวัยเด็ก เป็นแรงบันดาลใจการออกแบบ
โรค Dyslxia เกิดจากภาวะผิดปกติของสมอง ที่สัมพันธ์กับการอ่าน เขียน และการสะกดคำ โดยส่วนใหญ่มักมีปัญหาในการแยกความแตกต่างของตัวอักษร หรือมองเห็นตัวอักษรสลับที่ ทำให้เด็กเรียนรู้ช้า และเรียนไม่ทันเพื่อนในห้องเรียน แต่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยมีคนดังที่ประสบความสำเร็จหลายคนเคยเป็นโรคนี้มาก่อน ทั้ง Pablo Picasso หนึ่งในศิลปินแนวเอ็กซ์เพรสชั่นนิส ที่มีพรสวรรค์มากที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 สตีเวน สปีลเบอร์ก ผู้กำกับชื่อดัง ฉายาพ่อมดฮอลลีวูด หรือแม้กระทั่ง John Irving ที่เติบโตมาเป็นนักเขียนนวนิยายชื่อดังอย่าง The Cider House Rules
Boer กล่าวว่า เขาใช้วิธีมองตัวอักษรโดยนึกภาพว่ามันขยับไปมาได้เหมือนภาพสามมิติ แบบเดียวกับที่เขาเคยมองเห็นในวัยเด็ก แล้วจึงลงมือดัดแปลงด้วยการเน้นน้ำหนักส่วนหัวหรือหาง เติมความยาว หรือขยายช่องว่างภายในตัวอักษรเพื่อให้แต่ละตัวมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
ตัวอักษรจากการออกแบบของ Boer ช่วยให้เด็กบกพร่องหลายคนอ่านได้เร็วขึ้นและผิดพลาดน้อยลง เช่น Suzanne Meijer วัย 11 ปี ที่สังเกตเห็นความแตกต่างเพราะส่วนใหญ่เธอมักเทความสนใจไปที่คำยาวๆ ทำให้อ่านคำสั้นๆ ผิดบ่อยครั้ง แต่ตัวอักษรนี้ทำให้เธอสามารถอ่านคำสั้นๆ ได้ถูกต้องมากขึ้น ปัจจุบันมีจำนวนเด็กเป็นโรค Dyslexia อยู่ระหว่างร้อยละ 3 - 10 ของประชากรโลก โดยเฉพาะในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก มีจำนวนสูงกว่าคือราวร้อยละ 15 - 17 ของประชากร