รำลึกครบรอบ 7 ปี
ครบรอบ7 ปี ของเหตุการณ์ "สึนามิ" ที่พัดถล่มภาคใต้ 6 จังหวัด ในฝั่งอันดามัน ประกอบด้วยจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง ตรัง และ สตูล ยังคงมีการจัดงานรำลึกอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากมีการประกาศยุติการจัดงานในระดับประเทศ แต่ในระดับท้องถิ่นยังคงมีการจัดงานต่อไป เช่น ที่บริเวณสวนสาธารณะโลมาหาดป่าตอง ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และ เทศบาลเมืองป่าตอง ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน จัดกิจกรรม ชวนเด็กไทย "เรียนรู้-ระวัง-ตั้งรับ มหันตภัยพิบัติ"
ซึ่งนอกจากจะเป็นการให้ความรู้กับเด็ก ๆ เกี่ยวกับการเกิดและการรับมือกับสึนามิแล้ว ยังเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับอุทกภัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร รวมถึงภาคใต้ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นด้วย
นอกจากนี้ทั้งที่ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง ยังมีการจัดกิจกรรมทางศาสนา 3 ศาสนา เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สึนามิ เช่นเดียวกับที่อนุสรณ์สถานบ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ที่เริ่มต้นกิจกรรมด้วยพิธีทางศาสนา การวางดอกกุหลาบเพื่อไว้อาลัย ก่อนจะปิดท้ายด้วยกิจกรรมการลอยโคมรำลึกถึงการจากไป
ซึ่งแม้หลายกิจกรรมจะเป็นกิจกรรมที่รำลึกถึงความสูญเสีย แต่ชาวบ้านที่บ้านน้ำเค็มบอกว่า ไม่อยากให้กิจกรรมการรำลึกเป็นกิจกรรมที่เศร้าสร้อย แต่ต้องการให้เป็นกิจกรรมที่ทุกคนร่วมกันตระหนักถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้น และสนุกสนานผ่อนคลายไปกับกิจกรรมที่ท้องถิ่นได้ร่วมกันจัดขึ้นผ่อนคลายความเครียดให้กับชาวบ้านด้วย
ก่อนหน้านี้ นักวิชาการได้ออกมาเสนอให้มีการบรรจุเอาบทเรียนจาก "สึนามิ" เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน โดยนายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เห็นว่า ควรบรรจุการเรียนการสอนภัยพิบัติให้เป็นหลักสูตร ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสึนามิ ดินถล่ม ไฟป่า หรือ น้ำท่วม เพราะจะทำให้เด็กและเยาวชนแต่ละจังหวัดได้ศึกษาค้นคว้า เรียนรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเอง อันจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อม เฝ้าระวังและควรให้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมจากที่ต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการส่งความรู้จากในห้องสู่นอกห้องให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง
ขณะที่ รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นว่า ประเทศไทยยังไม่มีการบันทึกหลักสูตรการเรียน โดยนำเอาประสบการณ์สึนามิมาเป็นประโยชน์ แม้จะผ่านเวลาไปแล้วกว่า 7 ปี สิ่งที่จำเป็นจึงควรที่จะให้ความรู้-คุณลักษณะของการเอาชีวิตรอด
ด้านนายอมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค. กล่าวว่า จากการศึกษาบทเรียนมหาอุทกภัยและภัยธรรมชาติจากต่างประเทศ สามารถสรุปการบริหารจัดการในวิกฤติภัยได้ 12 บทเรียน เช่น รัฐบาลต้องตั้งศูนย์บัญชาการในยามพิบัติภัย แต่ต้องไม่รวมศูนย์อำนาจเพียงจุดเดียว, เน้นการประสานงานที่รับฟังทุกภาคส่วน, ใส่วิธีคิดเรื่องการลดความเสี่ยงภัยพิบัติธรรมชาติเข้าไปอยู่ในวิธีคิดของทุกภาคส่วน
รวมถึงการสื่อสารท่ามกลางวิกฤตต้องยึดหลักความถูกต้องของข้อมูลไม่สร้างความตระหนกและแปลงข้อมูลให้เข้าใจง่าย, ให้ความสำคัญกับการลงทุนป้องกันในพื้นที่ยากจน เพราะมักเป็นพื้นที่ที่สูญเสียมากที่สุด, การให้ความรู้ทางเทคนิคในระดับพื้นที่เกี่ยวกับมาตรการและเครื่องมือในการป้องกันสถานที่สำคัญ, และใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแก้ปัญหาภัยธรรมชาติ และ ครูกับโรงเรียนเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้และเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการรับมือภัยธรรมชาติ