นอกจากเว็บไซต์ของกระทรวงไอซีทีที่ไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้แล้วในช่วงเวลา 19.30 น. ก็ยังมีเว็บไซต์อื่น ๆ อีก เช่น บริษัท กสท โทรคมนาคม หรือ CAT เว็บไซต์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. เว็บไซต์ของ สำนักนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงเว็บไซต์ บริษัท ทีโอที จำกัด และกระทรวงการคลัง ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้เช่นกัน จนกระทั่งเวลาประมาณ 23.00 น.เว็บไซต์ของกระทรวงไอซีที และหน่วยงานอื่น ๆ จึงทยอยเปิดเข้าใช้งานได้ตามปกติ
ก่อนหน้านี้ในช่วงบ่ายมีการแชร์บนโซเชียลมีเดียต่อต้านแนวคิดโครงการซิงเกิลเกตเวย์ ของกระทรวงไอซีที ที่จะควบคุมการจราจรข้อมูลทางอินเทอร์เนตจากเว็บไซต์ต่างประเทศเข้าไทย โดยจะร่วมปฏิบัติการไม่ให้เว็บไซต์ของกระทรวงไอซีที ใช้งานได้ตามปกติ
นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านไอที ให้สัมภาษณ์ในรายการตอบโจทย์ ทางไทยพีบีเอส มองว่า ซิงเกิล เกตเวย์ จะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนและรอบด้าน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความมั่นคง และการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เว็บไซต์ของกระทรวงไม่ได้ล่มแต่เกิดจากกรณีมีกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย ซิงเกิ้ล เกตเวย์ รวมตัวกันเพื่อต่อต้านนโยบายดังกล่าวด้วยวิธีการเข้ามาใช้งานจำนวนมากในเวลาเดียวกัน จากนั้นทำการกด "เรียกใหม่" หรือ "รีเฟรช" ด้วยปุ่มเอฟ 5 บนคีย์บอร์ดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กระทบต่อความเร็วในการเรียกเปิดใช้งานเว็บไซต์ หรือไม่สามารถใช้งานได้ในระยะเวลาดังกล่าว
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่ากระทรวงไอซีที ชี้แจงว่า ซิงเกิ้ล เกตเวย์ เป็นเพียงแนวนโยบายเพื่อช่วยเหลือในด้านของเศรษฐกิจประเทศ ไม่ใช่เน้นในการใช้งาน ด้านความมั่นคง ซึ่งขณะนี้ โครงการซิงเกิ้ลเกตเวย์ ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา โดยกระทรวงไอซีทีจะเชิญภาคธุรกิจและภาคประชาชนเข้ามาหารือร่วมกัน เพื่อทำความเข้าใจ
ล่าสุด รมว.ไอซีทีจะแถลงข่าวกรณีเว็บไซต์กระทรวงมีปัญหา ในเวลา 12.00 น. วันนี้