นายศักดายอมรับว่าการเขียนการ์ตูนล้อการเมืองในช่วงก่อนหน้านี้ อาจมีข้อมูลไม่ครบถ้วนเพียงพอ จากนี้จะระมัดระวังการทำงานมากขึ้น
การ์ตูนการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2558 บางชิ้นมีเนื้อหาวิจารณ์บทบาทพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ที่สหรัฐอเมริกา เทียบกับภาพลักษณ์ภายในประเทศ รวมถึงประเด็นที่อยู่ในความสนใจอย่างการตั้งประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคดีระเบิดแยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นผลงานที่ นายศักดาระบุว่า เจ้าหน้าที่ คสช.ได้หยิบยกมาเป็นตัวอย่างระหว่างการพูดคุยปรับทัศนคติที่กองทัพบกวันนี้ และนายศักดาก็ยอมรับว่า อาจทำงานบนพื้นฐานของข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน
ภายหลังพูดคุยกับ คสช. ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที นายศักดาออกมาบอกกับสื่อมวลชนว่า ตนเองได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ คสช. แต่ไม่ได้ลงนามในเอกสารหรือถูกคาดโทษใดๆ จากนี้จะนำเสนอข้อมูลด้วยความระมัดระวังมากขึ้น โดยอ้างอิงกับข้อเท็จจริง เพราะกังวลว่าการทำงานอาจส่งผลกระทบต่อองค์กร นายศักดากล่าวเพิ่มเติมว่าคสช.ไม่ได้ห้ามแสดงความเห็น แต่หากพบว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริงหรือละเมิดสิทธิ คสช.ระบุว่า อาจใช้วิธีการฟ้องร้องดำเนินคดี
"ผมเก็บข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มาวาดการ์ตูน ซึ่งบางครั้งข้อมูลอาจจะไม่ตรงหรือไม่เคลียร์ ก็ยินดีที่จะฟังคำชี้แจง และต่อไปก็จะต้องพินิจพิเคราะห์พิจารณามากขึ้นในการวาดการ์ตูน และผมได้ยืนยันกับผู้ที่เรียกมาว่าเราเป็นนักหนังสือพิมพ์ ก็หวังดีต่อประเทศชาติ เราอยากสะท้อนภาพและความเห็นออกมาเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ บางทีอาจจะเกินเลยไปบ้างก็ได้ขอโทษทางเจ้าหน้าที่ไป" นายศักดากล่าว
นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนกรณี คสช.เรียกตัวนายศักดาไปปรับทัศนคติ แต่หากพบเป็นการคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อฯ สมาคมฯจะพิจารณาอีกครั้ง